“สกลธี” ผุด เก็บภาษีเมือง เก็บเงินต่างชาติ ค่าเหยียบ กทม.

“สกลธี ภัททิยกุล” ยกตัวอย่างมหานครนิวยอร์ก ผุด เก็บภาษีเมือง เก็บเงินต่างชาติ เหยียบ กทม.

วันที่ 9 พ.ค. นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 กล่าวถึงนโยบายการบริหารจัดการงบประมาณของ กทม. ที่ตั้งใจจะทำภายใต้ “สกลธีโมเดล” หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.ว่า จากประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ตนเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ทำให้ทราบดีว่า มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เพราะปีหนึ่งอาจจะดูเยอะประมาณ 80,000 ล้านบาท ถ้าพูดเป็นตัวเลขกลมๆ แต่ถ้าหักค่าเงินเดือน หักค่าหนี้สะสมหักทุกอย่างไปแล้ว จะเหลือเม็ดเงินงบประมาณปีละราว 20, 000 ล้านบาท และยิ่งช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมา ในช่วงโควิด-19 จะเหลืองบที่ใช้ได้ประมาณกว่าหมื่นล้านบาทต้นๆ เท่านั้น ซึ่งในการพัฒนาเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ งบประมาณดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้

นายสกลธี กล่าวว่า สกลธีโมเดล จะต้องหาเงิน ไม่ใช่การที่จะต้องรอรับเงินจากรัฐบาลอย่างเดียว โดยเรื่องแรก คือการบริหารจัดการขยะ เพราะในการบริหารจัดการเรื่องขยะของ กทม. ต้องมีเงินที่ถูกใช่ไปกับเรื่องนี้ในปีหนึ่งๆ ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท แต่เม็ดเงินดังกล่าวถูกใช้หมดไปกับค่าเช่ารถ ซื้อรถค่าถังขยะ ที่แพงสุดคือการจ้างเอาไปฝังกลบ ถ้าคนเป็นผู้ว่าฯ เป็นคนที่รู้กฎหมายจะรู้เลยว่าสามารถทำวิธีอื่นได้ คือให้เอกชนเข้าทำ โดยการแก้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้ กทม. สามารถประหยัดเงินปีหนึ่งๆ ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และแถมขยะที่ได้ กทม. ยังขายให้เอกชน และหมุนกลับมาเป็นเงินรายได้ของ กทม. ได้อีกด้วย

นายสกลธี กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ 2 คือ เรื่อง City Tax ซึ่งหลายคนคงเคยไปเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว เวลาไปนอนโรงแรมนิวยอร์ก หรือว่าเมืองใหญ่ๆ เวลาจ่ายค่าบริการ ใบเสร็จออกมาจะเห็น ในบิลว่ามีรายละเอียดของ City Tax อยู่ด้วยนั่นคือการที่เราไปนอนต่างประเทศแล้วเขาก็จะเก็บภาษีเมือง แล้วแต่อัตราที่กำหนดเช่น นิวยอร์ก เก็บ 8 เปอร์เซ็นต์ หรือที่อื่นอาจจะ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในนโยบายของสกลธีโมเดล เกี่ยวกับการหาเงินเข้ามาพัฒนากรุงเทพฯ มีแนวนโยบายว่า ปกติคนต่างชาติมาเมืองไทยจะต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินให้กับการท่าฯ อยู่แล้ว

นายสกลธี กล่าวว่า ในสกลธีโมเดลจะเก็บในส่วนของการเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องเก็บมากแค่ 100 บาทต่อหัว ถ้าลองคำนวณเก็บเพียง 100 บาทต่อห้อง จากจำนวนนักท่องเที่ยว ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมากรุงเทพฯ 60 ล้านคน คิดแค่ครึ่งหนึ่งนักท่องเที่ยวนอนเตียงคู่ต่อห้องก็เหลือประมาณ 30 ล้านคน ต่อปี เมื่อคำนวณแล้ว 1 คืนจะได้เงิน 3,000 ล้านบาทต่อปี แต่โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวจะนอนในกรุงเทพฯ ประมาณ 4.7 คืน ดังนั้น แค่ 2 วิธีนี้ กรุงเทพฯ จะมีเงินเพิ่มอย่างน้อย 8,000 ล้านบาท