“เรือดำน้ำ” ส่อโมฆะ ทร.ยืนกราน เอาเครื่องยนต์เยอรมัน “จีน” ยังหาให้ไม่ได้

โฆษก ทร. เผยผลการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ยืนกราน เอาเครื่องยนต์เยอรมัน ขณะที่จีน ยังหาให้ไม่ได้

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เวลา 18.00 น. พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงผลการประชุมท้ายเรือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ของเรือดำน้ำระหว่าง กองทัพเรือ กับ บริษัท CSOS โดยมี พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นประธานฝ่ายไทย และ Mr. Liu Song รองประธาน บริษัท CSOC เป็นประธานฝ่ายจีน และมีรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน/กรุงเทพ ร่วมในการประชุม ซึ่งจัดให้มีขึ้น ณ ห้องประชุม อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

โดย บริษัท CSOC แจ้งว่าได้ใช้ความพยายามในการเจรจา กับบริษัท MTU สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทั้งในระดับ บริษัท-บริษัท รัฐบาล-รัฐบาล และ ช่องทางทางการทูต ในการจัดหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงได้

ทั้งนี้ บริษัท CSOC ได้เสนอเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น CHD 620 ให้ กองทัพเรือพิจารณาทดแทนรุ่น MTU 396 แต่อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้แจ้งยืนยันความต้องการใช้ เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า MTU 396 ตามข้อตกลงเนื่องจากเครื่องยนต์ CHD620 ที่ บริษัท CSOC เสนอ ไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำของประเทศใดมาก่อน

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อไปว่า กองทัพเรือได้แจ้งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อตกลง ให้ทางบริษัท CSOC รับทราบ ดังนี้

1. ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการใช้งานจริงในเรือดำน้ำ

2. มีความปลอดภัยในการใช้งานจริง

3. มีการรับประกัน การบริการหลังการขาย และการซ่อมบำรุง

4. ตอบสนองด้านความต้องการใช้งานทางยุทธการของกองทัพเรือ

และเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อตกลง กองทัพเรือ ขอให้ทางบริษัท CSOC จัดทำข้อเสนอแนวทาง ระๆยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเรือดำน้ำให้ กองทัพเรือ พิจารณา ภายใน 60 วัน (ภายใน 9 สิงหาคม 2565)