บ่อยครั้งเมื่อเหตุการณ์ องค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หรือ “สภาล่ม” สังคมการเมืองมักจะตั้งคำถามและสอบหาเหตุไปยังประธานวิปรัฐบาลผู้รับผิดชอบในการควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเช่นเดียวกันคำตอบที่มักจะคุ้นชินจากผู้ดำรงตำแหน่งนี้คือ “องค์ประชุมเป็นของทุกฝ่าย” มิได้หมายถึงทิศทางกระแสการเมืองแต่อย่างใด
หากพินิจพิจารณาให้ดี “สภาล่ม” แต่ละครั้ง ย่อมสื่อถึงกระแสลมทางการเมืองที่แปรเปลี่ยนไปทุกขณะ เหตุการณ์สภาล่มหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนกันยายน 2564 คือหนึ่งในนั้น อีกมุมเหตุหนึ่งมาจากฝ่ายค้านที่แสดงออกทางการเมืองด้วยการ “วอล์กเอาต์” ซึ่งมีมาให้เห็นมาเกือบทุกรัฐบาล
เป็นความจริงในทางทฤษฎีที่องค์ประชุมเป็นของทุกฝ่ายแต่ในทางปฏิบัติย่อมไม่เป็นเช่นนั้น การเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องพร้อมตั้งแต่ในสภาฯ ไปยังทำเนียบฯ มิใช่จากทำเนียบก่อนแล้วสภามาทีหลัง เมื่อรัฐบาลมีความพร้อมจึงเรียกได้ว่ามีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
การประสานงานระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลนั้นกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ที่จะต้องตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล ขึ้นมารับผิดรับชอบ ในการควบคุมสมาชิกสภาฯ ให้มาลงคะแนนเสียงหรือเข้าประชุมในวาระสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี”
“วิป” (whip) ในความหมายของภาษาอังกฤษ คำกริยา หมายถึง เหวี่ยงโดยเร็ว หรือเฆียน คำนามนั้นหมายถึง แส้ และเมื่อนำมาใช้กับบุคคลจะหมายถึง ผู้ที่แส้ควบคุมกิจการบางอย่าง ซึ่งในทางการเมือง คือ การรวบรวมสมาชิกสภาฯ ให้เข้ามาเป็นองค์ประชุม
โดยที่ “วิป” ในการเมืองไทยมีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน และลักษณะสำคัญของทั้งสองคือการมีลักษณะเข้มแข็งและสามารถใช้กลเม็ดเด็ดพรายได้อย่างช่ำชอง สามารถหยิบยกประเด็นขึ้นมาเพื่อชิงความได้เปรียบและต่อรองระหว่างกัน และทั้งนี้ทั้งสองต้องมีใจรับฟังความคิดเห็นและเคารพมติของการประชุม
“วิปรัฐบาล” จะทำหน้าที่หลัก ในการประสานงานระหว่างรัฐบาลและควบคุมองค์ประชุมในการลงมติในร่างกฎหมาย “วิปฝ่ายค้าน” นั้น จะทำหน้าที่หลัก ในการดำเนินงานของพรรคฝ่ายค้านทั้ง เสนอญัตติ กระทู้ถาม ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจและการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง
ในการเมืองไทยความแตกต่างอีกประการหนึ่ง คือ “วิปรัฐบาล” จะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการลงนามโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่วิปฝ่ายค้านนั้นไม่มีหลักฐานการแต่งตั้งและกำหนดอย่างแน่นอนว่ามีจำนวนกี่คน โดยมากในอดีตเมื่อได้รับหน้าที่รับผิดชอบแล้วผู้นั้นจะประกาศสู่สาธารณชนทราบและจะดำเนินการในทางปฏิบัติต่อไป
เพิ่มเติมจากประเด็นหลักแล้วนั้น บทความนี้จะนำเสนอ รายชื่อบุคคลซึ่งรัฐบาลและฝ่ายค้านตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ จนถึงปัจจุบัน แต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่ “วิป” และผลงานการควบคุมและการทำหน้าที่ของหลายท่านมักจะโดดเด่นและมีกลเม็ดเด็ดพรายชนิดที่ว่า “เขี้ยวลากดิน เขาชนดาว” อยู่เสมอ
รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร (2544-2548) มีประธานวิปรัฐบาลคือ “เสนาะ เทียนทอง” บุคคลซึ่งสำคัญทั้งต่อการควบคุมคะแนนเสียงในสภาฯ และเป็นผู้ที่มีบารมีและอาวุโสในทางการเมืองย่อมได้รับความเคารพและสามารถจัดการงานระหว่างรัฐบาลและสภาฯ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เสนาะ ยังเป็นผู้จัดการรัฐบาลในหลากหลายรัฐบาลทั้งรัฐบาลพลเอกชาติชาย พลเอกชวลิต และดร.ทักษิณ
ประธานวิปฝ่ายค้านคือ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ บุคคลซึ่งเคยเป็นทั้งประธานวิปฝ่ายค้านในสมัยพลเอกชวลิตและฝ่ายรัฐบาลในสมัยชวน 2 มาย่อมมีประสบการณ์ในการจัดการประสานงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรุปและอภิปรายญัตติในสมัยนั้นให้เข้าใจง่าย ซึ่งยากที่จะมีใครเหมือนและทำได้ในยุคนั้น
รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร (2548-2549) มีประธานวิปรัฐบาลคือ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” ด้วยเหตุที่พรรคไทยรักไทยลดบทบาทนายเสนาะลงไป และแทนที่ด้วยพงศ์เทพที่ในทางการเมืองยังไม่สามารถควบคุมและประสานงานได้อย่างถ้วนทั่วประกอบกับเหตุทางการเมืองนอกสภาฯ ทำให้เขาไม่สามารถ “วิป” ได้อย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก
ประธานวิปฝ่ายค้านคือ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” จากพรรคประชาธิปัตย์ และมีรองประธานวิปรัฐบาลคือ “ชินวรณ์ บุญยเกียรติ” ในส่วนสาทิตย์ นั้นเติบโตมาจากการเป็นโฆษกพรรคมาก่อนที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับชินวรณ์ที่การอภิปรายผสมลูกทองแดง รวมทั้งในทางการอภิปรายและสัมภาษณ์ในทางการเมืองค่อนข้างแหลมคมและปลุกเร้าทางการเมืองในขณะนั้น
รัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช (2550-2551) ประธานวิปรัฐบาลคือ “ชัย ชิดชอบ” กลุ่มขั้วทางการเมืองในพรรคพลังประชาชนซึ่งมีอิทธิพลและบารมี ประกอบกับการเป็นสมาชิกสภาฯ มาหลายสมัยของชัยและลูกล่อลูกชน กลเม็ดมุกตลก ทำให้เขาถูกเลือกมาดำรงตำแหน่งและประสานงานเกมทางการเมืองครั้งนี้ ซึ่งต่อมาเขาได้รับฉายา “ตลกเฒ่าเจ้าเล่ห์” ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
รัฐบาลนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (2551) ประธานวิปรัฐบาลคือ สามารถ แก้วมีชัย สมาชิกสภาฯ จากจังหวัดเชียงราย ซึ่งต่อมารับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และมีวิทยา บุรณศิริ รับตำแหน่งประธานต่อแต่ก็เป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้นก่อนที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์และวิทยาก็ทำหน้าที่เป็นประธานวิปฝ่ายค้านแทนที่
ประธานวิปฝ่ายค้านในรัฐบาลนายกสมัครและสมชายยังคงเป็น “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อมาภายหลังจากการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานด้านสื่อมวลชนและดูแลภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นหลัก จนได้รับฉายาว่า “ช่างจัดฉาก”
รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551-2554) ประธานวิปรัฐบาลคือ “ชินวรณ์ บุญยเกียรติ” ผู้เคยมีบทบาทในการทำงานคณะกรรมการประสานงานสภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ก่อนที่เขาจะได้รับตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการในปี 2553 และถ่ายโอนหน้าที่ให้กับวิทยา แก้วภราดัย ซึ่งลาออกจาก รมว. สาธารณสุข มารับตำแหน่งแทนซึ่งวิทยาคือหนึ่งในผู้เคยทำงานร่วมในฐานะ “วิป” มาหลายยุคหลายสมัย
รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2554-2556) ประธานวิปรัฐบาลคือ อุดมเดช รัตนเสถียร อดีตรมว. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสามารถประสานงานและจัดการงานในรัฐบาลได้โดยไร้กังวลเนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้การประสานงานในการ “วิป” คนเข้ามาเป็นองค์ประชุมนั้นไม่ลำบากมากนัก ต่อมาเมื่อเขาลาออกจากประธานวิป ด้วยทั้งกระแสสุขภาพและความไม่พอใจที่พรรคไม่ส่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลงชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม. ในปี 2556 ต่อมา “อำนวย คลังผา” ก็รับหน้าที่แทน
ประธานวิปฝ่ายค้าน คือ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นอดีตรมต.แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่าพรรคยังคงมอบหมายงานวิปให้กับจุรินทร์อย่างต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าเขาเป็นวิปมาเกือบทุกยุคสมัยตั้งแต่รัฐบาลชวลิต รัฐบาลชวน รัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งพรรคจะมอบหมายให้ประธานวิปสรุปญัตติทุกรอบและรอบที่ฮือฮามากที่สุดคือ การกล่าวหานายกฯ ว่า ลอยตัวเหนือปัญหา และหลายครั้งต่อหลายครั้งที่กลเกมวิปฝ่ายค้านในขณะนั้นถือได้ว่าสร้างเสียงตอบรับจากประชาชนผู้ไม่พอใจรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (2562-ปัจจุบัน) ประธานวิปรัฐบาลคือ “วิรัช รัตนเศรษฐ” จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่มีกลเม็ดเด็ดพรายในการประสานงานและควบคุมมติในสภาฯ ดังจะเห็นได้จากการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ มาตรา 44 ซึ่งฝ่ายค้านเป็นฝ่ายชนะ วิรัชได้ใช้กลเกมข้อบังคับสภาฯ ในการขอนับใหม่ ถึงแม้จะนำมาสู่สภาล่ม 2 ครั้งตามมาแต่เขาก็สามารถควบคุมและแก้ไของค์ประชุมได้ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” แม้สุดท้ายวิรัชจะถูกพักการปฏิบัติหน้าที่และต้องอำลาตำแหน่งไป
หลังวิรัชลาตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล “นิโรธ สุนทรเลขา” สมาชิกสภาฯ จากจังหวัดนครสวรรค์ ก็ได้รับการแต่งตั้งแทนเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 โดยก่อนหน้านี้นิโรธเคยมีบทบาทในการประท้วงผู้ทำผิดข้อบังคับประชุมสภาฯ ซึ่งมีทั้งหลักการและกลวิธีในการประท้วง อีกทั้งยังเป็นบุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไว้วางใจ การแก้ปัญหา “สภาล่ม” ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองในขณะนี้จึงสำคัญและแหลมคมยิ่ง
ประธานวิปฝ่ายค้าน “สุทิน คลังแสง” สมาชิกสภาฯ จังหวัดมหาสารคาม บุคคลซึ่งมีทักษะในการเรียบเรียงการอภิปรายได้อย่างเข้าใจง่ายและดึงดูดผู้ฟังด้วยการสรุปญัตติด้วยการทำความเข้าใจและไล่เรียงได้โดยไม่มีเอกสารในการนำเสนอประกอบแต่สามารถครอบคลุมทุกประเด็น สุทินจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในยามที่ผู้นำฝ่ายค้านอย่างสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ได้ฉายาว่า “ขนมจีนไร้น้ำยา” และ “สุทิน คลังแสง?”
“วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน” นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ควบคุมเสียงและควบคุมเกมในสภาผู้แทนราษฎรที่จะพลาดไม่ได้ เพราะหากพลาดนั้นย่อมหมายถึงโอกาสที่จะนำไปสู่การสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลและการขาดซึ่งความชอบธรรมในการปกครอง วิปรัฐบาลในฐานะผู้คุมเสียงข้างมากจึงสำคัญยิ่งที่ไม่แต่ควบคุมเสียงแต่ยังต้องปฏิบัติด้วยความเคารพในเสียงและการนำเสนอของฝ่ายค้าน ซึ่งหากทำได้อย่างว่า โอกาสในการประสานงานร่วมระหว่างกันอย่างราบรื่นคงเป็นไปได้ไม่ยาก
อ้างอิง
– สุนันท ขำโคกกรวด (2547). “สถานะทางกฎหมายของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)”. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
– ไทยรัฐออนไลน์(2564). “นายกฯ ลงนามตั้ง ส.ส.นครสวรรค์ “นิโรธ” นั่งประธานวิปรัฐบาลคนใหม่แล้ว”. https://www.thairath.co.th/news/politic/2236316