“วิชา มหาคุณ” ยังงง “ธรรมนัส” รอด ชี้ มาตรฐานใหม่ต่างชาติประหลาดใจแย่

(11 พ.ค.) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแสดงความเห็นคดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับไทย

วิชา ระบุว่า เกิดข้อถกเถียงในทางวิชาการว่าแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ หากศึกษารายละเอียดที่ปรากฎในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว จะปรากฏข้อความตอนหนี่งว่า “..เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ…”

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบและขจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล มิให้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง อันเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดตลอดมา ในการปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาในด้านจริยธรรม ของผู้บริหารที่ขาดความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจ (trust) จากประชาชน แต่ยังไม่ยอมออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าประชาชนเป็นผู้เลือกให้ทำหน้าที่แทนราษฎร ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา และล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน

การตีความโดยเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษรของศาลรัฐธรรมนูญ จึงกระทบกระเทือนต่อภารกิจอันสำคัญยิ่งของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องเป็นผู้คุ้มครองป้องกันและรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์ตามหลักรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) และก่อให้เกิดผลในทางที่ไม่น่าจะเป็น หรือยังให้เกิดผลประหลาด หรือผลอันไม่คาดคิด (a manifest absurdity) ดังเช่นในคดีนี้ย่อมสร้างความประหลาดใจให้แก่รัฐต่างประเทศว่าบุคคลซึ่งได้กระทำผิดและถูกตัดสินโดยศาลต่างประเทศ ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 98(10) ย่อมเดินทางกลับมาเป็นผู้ปกครองประเทศ หรือบริหารราชการแผ่นดินไทยได้ทั้งสิ้น ก่อให้เกิดมาตรฐานทางจริยธรรมที่แตกต่างกับลักษณะสากล อย่างสิ้นเชิง

วิชา ย้ำว่า ทั้งๆที่คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่11 และคณะที่ 13 ได้เคยประชุมร่วมกันและมีความเห็น ตามบันทึกกฤษฎีกาที่ 1271/2563 ว่ากรณีที่ใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริง มิใช่มาบังคับโทษในประเทศไทย ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้

#Newsxtra #ธรรมนัสพรหมเผ่า