จากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีประกาศตัดสิทธิ์ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 1 ราย และผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) 3 ราย หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อ นายพีรพล กนกวลัย ผู้สมัคร ส.ก. หมายเลข 7 พรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 50 (3) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”
วันที่ 12 เม.ย.นายพีรพล หรือ เฮียเล้า ให้ความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นเสมือนว่ากำลังมีการใช้ข้อหาความเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดิมๆมาเล่นงานผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลอีกครั้ง ยอมรับว่า เคยยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ หรือเป็นเจ้าของกิจการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ‘ท่องธรรมชาติ’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จริง แต่ได้พิมพ์ออกมาเพียง 6-7 ฉบับ และยุติกิจการในปีเดียวกัน พูดง่ายๆคือ เคยทำสื่อเมื่อ 28 ปีก่อนและได้หยุดดำเนินการไปนานแล้วโดยไม่พิมพ์ต่ออีกเลย กรณีนี้ถึงไม่มีการแจ้งยกเลิก แต่ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 45 ระบุว่า หนังสือพิมพ์รายวัน ถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสามสิบวัน หรือหนังสือพิมพ์รายคาบ ถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสี่คราวหรือเกินกว่าสองปี การเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง
นายพีรพล ย้ำว่า ความเป็นเจ้าของสื่อของตนจึงได้สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2539 เป็นอย่างน้อย ต่อมา เมื่อมี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 เปลี่ยนจากการที่เคยต้องจดแจ้งต่อสันติบาล เป็นหอสมุดแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่เคยมีการไปขอจดแจ้งใหม่ เมื่อความเป็นเจ้าของสิ้นสุดเด็ดขาดลงตามข้อกฎหมายไปนานแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังมีชื่อความเป็นเจ้าของปรากฏอยู่ตามกฎหมายใหม่
สิ่งที่สังเกตคือ ข้อกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของสื่อถูกนำมาใช้กับทั้งผู้สมัคร, อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ และอดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล คนแล้วคนเล่า แต่กรณีลักษณะแบบเดียวกันมักตีความให้เป็นคุณกับ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเสมอ จึงนำไปสู่คำถามว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้คืออะไรกันแน่ การต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อ ควรเป็นไปในลักษณะที่ป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้สื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง แต่จะเห็นได้ว่า กรณีของตนไม่มีทางใช้สื่อแทรกแซงในทางการเมืองได้เลย เพราะกระทั่งตอนนี้ แม้แต่การจะสั่งพิมพ์สักฉบับก็ยังไม่สามารถทำได้ หากไม่มีการไปจดแจ้งการพิมพ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ก่อน
“เรื่องนี้เป็นของเรื่องการต่อสู้ทางข้อกฎหมาย และผมไม่ได้ดำเนินกิจการนี้มาเป็นเวลานานถึง 28 ปีแล้ว ดังนั้น ทั้งด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงไม่เป็นกังวล ขณะนี้กำลังขอหลักฐานจากกองจดแจ้ง กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อยืนยันว่า ไม่เคยมีการจดแจ้งเพิ่มและความเป็นเจ้าของได้ขาดไปแล้วตั้งแต่ปี 2539 จากนั้นจะนำหลักฐานทั้งหมดไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อ กกต.
“ผมยืนยันว่าตัวผมได้หมดสภาพความเป็นเจ้าของอย่างเด็ดขาดไปนานแล้วตามข้อกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อสงสัยว่าจะมาตัดสิทธิกันด้วยข้อกล่าวหานี้ได้อย่างไร ขอให้ กกต.เร่งพิจารณาแก้ไข และคืนสิทธิของผมกลับมาโดยเร็วด้วย ” นายพีรพล ระบุ