การเมืองวันนี้รู้ไว้ไม่ตกข่าว : สุเทพ กลัว ผีทักษิณ – พรรคเล็กเสี่ยงสูญพันธุ์

เว็บไซต์ Newsxtra สรุปข่าวการเมืองในรอบวัน ประจำวันพฤหัสบดี ที่ 12 พฤษภาคม 2565 ดังนี้

“สุเทพ” กลัว ผีทักษิณ :

สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลัง โพสต์คลิปวิดีโอ “คุยกับลุง EP.28” ตอน “เรามาช่วยกัน โค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ” โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า ผมเป็นห่วงเรื่องอนาคตของประเทศไทย เพราะเห็นผู้สมัครหลายคนทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย แต่มีความสัมพันธ์มีความใกล้ชิดและเคยได้ประโยชน์จากระบอบทักษิณ ผมไม่อยากให้คนเหล่านี้ได้เป็นผู้ว่า กทม.เพื่อที่จะสร้างรากฐานทางการเมือง ไว้รองรับการกลับมาของระบอบทักษิณ ผมกลัวเรื่องนี้และไม่อยากเห็น

ชัชชาติ นำโด่ง :

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจ โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม อันดับ 1 ชัชชาติสิทธิพันธุ์ 40.25% อันดับ 2 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 15.47% อันดับ 3 อัศวิน ขวัญเมือง 13.95% อันดับ 4 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 11.09% อันดับ 5 สกลธี ภัททิยกุล 4.29% อันดับ 6 รสนา โตสิตระกูล 1.52% อันดับ 7 ศิธา ทิวารี 0.98% ผู้สมัครอื่น ๆ 1.89% ถามว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง คนกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนใจในการเลือกผู้สมัครหรือไม่ ไม่เปลี่ยนใจ 91.67% เปลี่ยนใจ 8.33%

ไม่ปิด มังกรฟ้า :

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ยกคำร้องคดีปิดเว็บไซต์ “มังกรฟ้า” โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ บริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด โดยศาลเห็นว่า พยานฝ่ายผู้ร้องมิได้เบิกความยืนยันว่า บริษัท มังกรฟ้าฯ ทุจริตอย่างไร อีกทั้งเมื่อบริษัท มังกรฟ้าฯ ไม่ได้ขายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนด จึงไม่ได้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์

ชัชชาติ โต้ :

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยืนยัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวตนดำรงตำแหน่งวิศวกรที่ปรึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยให้ทำการศึกษาโครงการ เมื่อ 18 ปีก่อน หลังมีผู้ยื่นให้ กมธ.ปปช.ตรวจสอบ

พรรคเล็กเสี่ยงสูญพันธุ์ :

กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา ลงมติวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.เห็นด้วยร่างเดิมที่เสนอให้ใช้ 100 หาร โดย เห็นด้วย 32 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้ สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อดังกล่าว จะให้พรรคคการเมืองขนาดเล็ก มีโอกาสได้ ส.ส.น้อย หรือแทบไม่มีโอกาสเลย