หากนับตามวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันถือเป็นการก้าวเข้าสู่สมัยที่สองสำหรับตำแหน่งพ่อเมืองมหานครแห่งนี้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ถือได้ว่าเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับแต่เคยมีมา โดยเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ตามอำนาจมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในขณะนั้น
แม้วันนี้อำนาจตามมาตราดังกล่าวจะมลายหายไปกับการสิ้นสุดลงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แต่ผู้ว่าฯ อัศวิน ยังคงเป็นมรดกส่วนหนึ่งของมาตรา 44 ที่ยังคงเห็นชัดอย่างเป็นรูปธรรม อนึ่ง ภายหลังคลื่นแห่งประชาธิปไตยค่อยๆ หวน กลับมาอีกระลอก การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่สาธารณชนเฝ้ารอคอยหลังจากที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในหลากหลายจังหวัด
กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในท้องถิ่นที่หลายคนตั้งตารอและหวังว่าจะเป็นต้นคลื่นของการชี้วัดการเมืองระดับประเทศ แม้จะยังไม่มีการประกาศท่าทีอย่างเป็นทางการและยากต่อการหาเหตุผลมารองรับจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบมากนัก แต่สุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับเข้าสู่ครรลองประชาธิปไตยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเลือกตั้งไม่ช้าก็เร็ว
บทความนี้จะพาไปสำรวจประวัติศาสตร์การเมืองของการเลือกตั้งท้องถิ่นแห่งนี้ นับตั้งแต่ปี 2516-ปัจจุบัน ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่การแต่งตั้งผู้ว่าฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปลี่ยนสถานะจากเทศบาลเป็นกรุงเทพมหานครภายหลังการรวมจังหวัดพระนครและธนบุรีตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 และ 25
.
ภายหลัง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 บังคับใช้ การได้มาของตำแหน่งผู้ว่าฯ เปลี่ยนจากการแต่งตั้งเป็นการเลือกตั้ง และกลับไปสู่รูปแบบเดิมอีก 4 ครั้ง ต่อมาปรับเปลี่ยนสู่การเลือกตั้งตามเดิม หลัง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บังคับใช้ เส้นทางของการดำรงตำแหน่งแห่งนี้ไม่ราบรื่นมากนักและพบว่ามีผู้ว่าจากการแต่งตั้งมาแล้ว 9 ครั้ง ขณะที่มาจากการเลือกตั้งอีก 10 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสถิติที่ใกล้เคียงและสะท้อนนัยยะประชาธิปไตยของประเทศได้เป็นอย่างดี
“ชำนาญ ยุวบูรณ์” (1 มกราคม – 22 ตุลาคม 2516) ผู้ว่าฯ คนแรกซึ่งได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อมาในปีเดียวกัน “อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล” (1 พฤศจิกายน 2516 – 4 มิถุนายน 2517) ได้รับแต่งตั้งสืบต่อ และปี 2517 “ศิริ สันติบุตร” (4 มิถุนายน 2517 – 13 มีนาคม 2518) ได้รับการแต่งตั้งสืบแทน ซึ่งทั้งสองได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ และ “สาย หุตะเจริญ” (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2518) ได้รับแต่งตั้งในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ผู้ว่าฯ 4 คนซึ่งได้กล่าวมาก่อนหน้านั้นมาจากการแต่งตั้ง โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 และภายหลังการปรับเปลี่ยนที่มาให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งในปี 2518 “ธรรมนูญ เทียนเงิน” ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้ว่าจากการเลือกตั้งคนแรก ซึ่งเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง อาทิตย์ อุไรรัตน์ พรรคพลังใหม่ ไปถึง 99,247 คะแนน โดยมีผู้มาใช้สิทธิโดยรวมเพียง 13.86
“ธรรมนูญ เทียนเงิน” ดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 1 ปีกว่าก็ถูกสั่งปลดจากตำแหน่งโดยการใช้อำนาจของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญปี 2519 ด้วยข้อพิจารณาของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้” และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งเช่นเดิม
หลังจากการปรับเปลี่ยนที่มา ผู้ว่าฯ ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อนั้น 4 คน คือ “ชลอ ธรรมศิริ” (29 เมษายน 2520-14 พฤษภาคม 2522) “เชาวน์วัศ สุดลาภา” (4 กรกฎาคม 2522 – 16 เมษายน 2524) “พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์” (28 เมษายน 2524 – 1 พฤศจิกายน 2527) และ “อาษา เมฆสวรรค์” (6 พฤศจิกายน 2527 – 13 พฤศจิกายน 2528)
หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้น โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากกลุ่มรวมพลัง เอาชนะคู่แข่งอย่าง ชนะ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์ และม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร จากพรรคประชากรไทยด้วย 408,237 คะแนน และมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 34.65 อีกทั้งยังเป็นผู้ว่าคนแรกจากการเลือกตั้งที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี
.
เลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ 3 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2533 ในนามพรรคพลังธรรม โดยเอาชนะคู่แข่งอย่าง เดโช สวนานนท์ จากพรรคประชากรไทย ด้วยคะแนนเสียงกว่า 703,671 คะแนน และมีผู้มาใช้สิทธิ 35.85 ต่อมาเขาได้ลาออกก่อนหมดวาระเพื่อไปเล่นการเมืองระดับชาติท่ามกลาง “กระแส จำลองฟีเวอร์” ทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร
เลือกตั้งผู้ว่า ครั้งที่ 4 ในปี 2535 “ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” รองผู้ว่าฯ ในสมัยจำลอง ศรีเมืองเข้าชิงตำแหน่งในนามพรรคพลังธรรม ภายใต้การสนับสนุนของจำลองและเอาชนะคู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ดร.พิจิตต รัตตกุล ไปด้วย 363,668 คะแนน และมีผู้ใช้สิทธิเพียงร้อยละ 23.02
เลือกตั้งผู้ว่า ครั้งที่ 5 ในปี 2539 กระแสพรรคพลังธรรมลดลงอย่างยิ่งและภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง “ชวน หลีกภัย” เข้ามาแทนที่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้ พิจิตต รัตตกุล ผู้สมัครอิสระจากกลุ่มมดงานซึ่งเคยลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งก่อนหน้าได้รับการเลือกตั้งโดยเอาชนะคู่แข่งอย่างอดีตผู้ว่า 2 คน คือ “จำลอง” จากพรรคพลังธรรมและ “กฤษฎา” จากพรรคประชากรไทย ด้วย 768,994 คะแนน โดยมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 43.53
เลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ 6 ในปี 2543 “สมัคร สุนทรเวช” พรรคประชากรไทยและเป็นผู้ว่าคนแรกที่ได้รับคะแนนเสียงกว่า 1,016,096 คะแนน โดยเอาชนะคู่แข่งอย่าง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยรักไทย และนายธวัชชัย สัจจกุล พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยกระแสข่าวในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาสนับสนุน “สมัคร” เพื่อจะสกัดกั้นการเติบโตของไทยรักไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองในระดับชาติ และครั้งนี้มีผู้มาใช้เสียงเลือกตั้งร้อยละ 58.87
เลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ 7 ในปี 2547 “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งภายใต้กระแสการถ่วงดุลอำนาจระหว่างชนชั้นและกระแสไทยรักไทยในกรุงเทพฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับภาพลักษณ์การเป็นนักบริหารทำให้ได้รับเลือกด้วย 911,441 คะแนน โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 62.50 ซึ่งอภิรักษ์เอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง ปวีณา หงสกุล ผู้สมัครอิสระ และชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ จากพรรคต้นตระกูลไทย ไปได้
เลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ 8 ในปี 2551 หลังอภิรักษ์ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ เขาก็ได้รับเลือกต่อด้วยกระแสทางการเมืองที่ไม่เอาพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นขั้วของอดีตนายกทักษิณ ทำให้ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ อีกครั้ง ด้วยคะแนน 991,018 โดยเอาชนะผู้สมัครอย่างประภัสร์ จงสงวน จากพรรคพลังประชาชน และชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งลงสมัครในนามอิสระ ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิในครั้งนั้น คิดเป็นร้อยละ 54.18
ภายหลังปปช. ชี้มูลความผิดในคดีทุจริต “อภิรักษ์” ได้ตัดสินใจลาออก และส่งไม้ต่อให้กับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งที่ 9 ปี 2552 ซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนเสียงกว่า 934,602 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 51.10 ของผู้มาใช้สิทธิและเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง ยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทย และม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ในนามอิสระไปได้
เลือกตั้งผู้ว่าครั้งที่ 10 ในปี 2556 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนเสียงกว่า 1,256,349 คะแนนโดยคิดเป็นร้อยละ 63.38 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนคะแนนและสถิติผู้ออกมาใช้สิทธิที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่า โดยสุขุมพันธุ์เอาชนะผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ไปกว่า 2 แสนกว่าคะแนนซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกตั้ง ระดับชาติในพื้นที่กรุงเทพที่ประชาธิปัตย์มีคะแนนนำกว่าเล็กน้อย
แต่งตั้งครั้งที่ 9 ในปี 2559 พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ได้รับการแต่งตั้งภายหลังคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๙ ปลด ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ และแต่งตั้งเขาด้วยมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบัน ผู้ว่าฯ อัศวิน ดำรงตำแหน่งมาแล้วกว่า 5 ปี และเป็นผู้ว่าที่มาจากการแต่งตั้งที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด
ปัจจุบัน แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยังไม่มี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิด การเปิดตัวผู้สมัครหลายพรรคหลายกลุ่มมีให้เห็นมาเป็นระยะในท่ามกลางการเมือง 2 ขั้ว ซึ่งส่วนใหญ่ในท่ามกลางการเมืองที่รุนแรง ผู้สมัครอิสระมักจะเป็นทางเลือกที่ดีแต่ก็ไม่เสมอไป สำหรับบางพรรคที่ครองคะแนนความนิยมมาอย่างยาวนานอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ จะสะท้อนการเมืองระดับชาติของพรรคใหญ่หลายพรรคได้อย่างแน่วแน่และตัวเต็งอย่างผู้สมัครในนามอิสระอย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นตัวแทนในประลองกำลังในการเมือง 2 ขั้วนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป
อ้างอิง
– มติชนออนไลน์, “ย้อนรอย ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ แต่งตั้ง 9 ครั้ง เลือกตั้ง 10 ครั้ง ก่อน ‘อัศวิน’ ประกาศลงสนาม”,https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_814512
– ชมพูนุท สุขศรีมั่งมี, “การศึกษาเปรียบเทียบกลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของนายสมัคร สุนทรเวช กับ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ปี พ.ศ. 2543”,วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต,คณะรัฐศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– กรุงเทพธุรกิจ, “เจาะฐาน ‘ป๊อปปูลาร์โหวต’ จุดเดือดสนาม ‘ผู้ว่าฯกทม.’”, https://www.bangkokbiznews.com/news/950920