3 ปี สภาฯ ผู้แทน…? ไร้กฎหมายจากภาคประชาชน โดนปัดตก-เตะถ่วงอื้อ

เป็นปีที่ 3 ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของสภา “อับปาง” ที่พักหลังแม้ประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย จะพยายามยื้อยุทธ์เต็มที่ แต่ก็ไม่วายต้องอับปางลงอีกครา เป็นครั้งที่ 17 หากพิจารณากฎหมายของสภาฯ ที่ผ่านเป็นพระราชบัญญัติและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา 18 ฉบับ พระราชกำหนดอีก 8 ฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเห็นชอบผ่านร่างพบว่า ทั้ง 22 ร่างกฎหมายเสนอโดย คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารทั้งสิ้น ขณะที่กฎหมายจากภาคประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นถูกนายกรัฐมนตรีปัดตกไม่ให้คำรับรองและถูกยื้อเวลา

ในส่วนของภาคประชาชนนั้นมีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายหลายฉบับตั้งแต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนถึงการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีการเสนอต่อสภาฯ เพื่อพิจารณา 2 ร่าง คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์” กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 98,041 คน เสนอ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับกลุ่มรี-โซลูชั่น” เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน ซึ่งร่างทั้งสองโดนปัดตกในวาระรับหลักการ

ขณะที่การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยประชาชนในการพิจารณาของสภาฯ ชุดที่ 25 มีเพียงร่างเดียวคือ ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย นายปารเมศ โพธารากุล กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 18,437 คน ซึ่งเสนอไปในปี 2561 แต่ล่วงเลยมาแล้วกว่า 4 ปี การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการและรับฟังความเห็นของสภาฯ ยังไม่แล้วเสร็จ

ในส่วนของตัวแทนประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการนำเสนอกฎหมายเข้าพิจารณาถึง 109 ฉบับ แบ่งออกเป็นสมาชิกสภาฯ พรรคพลังประชารัฐ 9 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 22 ฉบับ พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ฉบับ พรรคภูมิใจไทย 20 ฉบับ พรรคเพื่อไทย 20 ฉบับ พรรคอนาคตใหม่+พรรคก้าวไกล 24 ฉบับ พรรคเสรีรวมไทย 2 ฉบับ พรรคประชาชาติ 6 ฉบับ และพรรคเล็กอย่างพรรคไทรักธรรม พรรคพลังท้องถิ่นไท และพรรคประชาธิปไตยใหม่อีกพรรคละ 1 ฉบับ

การเสนอร่างกฎหมายในสัดส่วนของสมาชิกสภาฯ นั้นจะพบว่า พรรคที่เสนอร่างกฎหมายเข้ามาที่สุดคือพรรค อนาคตใหม่+พรรคก้าวไกล รองลงมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย โดย 23 จาก 109 ร่างนั้นถูกปัดตกไปโดยนายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง แบ่งออกเป็น ร่างกฎหมายจากพรรคก้าวไกล+อนาคตใหม่ 5 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 5 ฉบับ พรรคภูมิใจไทย 3 ฉบับ พรรคพลังประชารัฐ 2 ฉบับ พรรคเพื่อไทย 2 ฉบับ พรรคประชาชาติ 3 ฉบับ พรรคเสรีรวมไทย 2 ฉบับ และพรรคไทรักธรรมอีก 1 ฉบับ ขณะที่อีก 86 ฉบับอยู่ระหว่างดำเนินการและการพิจารณาในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน

นอกจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว สภาฯชุดปัจจุบัน ยังพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จสิ้นและเห็นชอบให้วุฒิสภาพิจารณาต่ออีกจำนวน 16 ฉบับ โดยมี 6 ฉบับซึ่งมาจากการเสนอโดยคณะรัฐมนตรี 5 ฉบับและสมาชิกสภาฯจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 ฉบับที่วุฒิสภาส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นกรณีที่มีวุฒิสภาขอแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ และส่งกลับสภาฯ เพื่อดำเนินตามมาตรา 137 แห่งรัฐธรรมนูญอีก 3 ฉบับ

อย่างไรก็ตามพบว่ามีร่างกฎหมายในปี 2565 อีก 5 ฉบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนรับหลักการอีก 60 วัน โดยแบ่งออกเป็นร่างของพรรคก้าวไกล 3 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 1 ฉบับและพรรคประชาชาติ 1 ฉบับ ได้แก่

ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา กับคณะ

ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เสนอโดย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ

ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. เสนอโดย นายรังสิมันต์ โรม กับคณะ

ร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กับคณะ

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะ

ที่มา

– กรุงเทพธุรกิจ, “เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ ตีตก“ร่างรธน.” – ค้าง “37 พ.ร.บ.”, https://www.bangkokbiznews.com/politics/972494

– กรุงเทพธุรกิจ, 3 ปี ร่าง “พ.ร.บ.อ้อย” ไปไม่ถึงไหน เถียงกันวุ่นนิยามน้ำตาล-ส่วนแบ่งรายได้, https://www.prachachat.net/economy/news-646881

– สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา,“การพิจารณาพระราชบัญญัติ”,

http://web.senate.go.th/w3c/senate/lawdraft/index.php?kw=&page=1&orby=&orrg=ASC

– สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “ระบบสารสนเทศนิติบัญญัติสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”, https://lis.parliament.go.th/index/index.php