คนเดือนตุลา: ใครเป็นใครในการเมืองไทยปัจจุบัน?

​เมื่อพูดถึง “คนเดือนตุลา” ชื่อเรียกกลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์แห่งสายธารประวัติศาสตร์การเมืองอย่าง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ถือเป็นกลุ่มบุคคลซึ่งมีส่วนสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยและชี้แนะแนวทางขับเคลื่อนทิศทางในสังคมไทยในระบอบซึ่งควรจะเป็นอยู่เสมอ

​กาลเวลาหลังประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลาน กลุ่มซึ่งเรียกว่า คนเดือนตุลา ต่างแยกย้ายผลัดเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ในแต่ละชุมชนของตัวเอง ทั้งชุมชนนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ องค์กรอิสระ NGOs และที่สำคัญคือชุมชนการเมือง ซึ่งผู้เขียนจะนำท่านผู้อ่านไปสำรวจบทบาทของพวกเขาเหล่านั้นในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในปัจจุบัน

​คนเดือนตุลาอย่าง “สหายประยูร” หรือ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตนายกสโมรสรนิสติจุฬาฯ ในปี 2519 จากพรรคจุฬา-ประชาชน ผู้ซึ่งนำนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลา คัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจรในขณะนั้น ภายหลังรัฐประหาร เอนกได้หลบเป็นหนึ่งในแกนนำแนวร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธเขตเทือกเขาบรรทัด และถูกส่งให้ไปอยู่สำนัก 61 ภูพยัคฆ์ น่านเหนือ ร่วมกับเพื่อนผู้นำนักศึกษาในปี 2520

​เอนกในฐานะนักวิชาการเป็นที่โด่งดังในงานวิชาการเรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย” ซึ่งถือเป็นงานเขียนที่อธิบายภูมิทัศน์การเมืองไทยได้อย่างคลอบคลุม หลังจากนั้นเขาเข้ามาสู่การเมืองสมัยแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน ปัจจุบันสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย และรั้งตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ในยุคเดียวกันนี้เอนกได้กล่าวถ้อยคำซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มคนเดือนตุลา ในงานเสวนาปฎิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ความว่า

​“ตอนที่ผมมีส่วนร่วมอยู่บ้างในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ผมคิดว่า ถ้าผมรู้นะว่าประชาธิปไตยมันจะเป็นแบบนี้ ผมไม่ทำหรอก 14 ตุลา ผมปล่อยให้จอมพลถนอมท่านปกครองต่อไปดีกว่า ถึงแม้ว่ามันจะมีอะไรไม่ดี แต่ผมคิดว่าความเลวร้ายของระบบเลือกตั้งที่เราได้กันมา ผมว่ามันเลวร้ายกว่าเสียอีก”

​คนเดือนตุลาอย่าง “สหายแสง” หรือ ศุภชัย โพธิ์สุ อดีตผู้เข้าร่วมอุดมการณ์หลัง 6 ตุลา 2519 ด้วยคำชักชวนของเพื่อนสนิทชาวนครพนมที่ได้หลบหนีเข้าป่า ก่อนถูกส่งตัวขึ้นไปเข้าโรงเรียนการเมือง-การทหารในฐานที่มั่นภูพาน สหายแสงถูกขนานนามว่าเป็นสหายสายบู๊ หรือ แสง ปืนเค (ปืนพกดาวแดง) และในปี 2525 หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายลง เขากลับเข้ามาศึกษาต่อและรับราชการครูรวมทั้งเป็นแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย จ.นครพนม ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

​ในแวดวงการการเมืองเขาเข้าสู่การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนาม พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และปัจจุบันสังกัดพรรคภูมิใจไทย รั้งตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2

​คนเดือนตุลาอย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา ด้วยผลงานบทกลอน บทกวี อันสะท้อนสังคมการเมืองในยุค 14 ตุลา 2516 อย่าง กวีนิพนธ์ “เพียงความเคลื่อนไหว” ซึ่งได้รับรางวัลกวีซีไรต์ในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันข้อคิดข้อเขียนของเขายังได้ถ่ายทอดสู่สังคมเพื่อสร้างแรงใจของเยาวชนผู้ร่วมอุดมการณ์อย่างต่อเนื่อง

​หลังเหตุการณ์วันฆ่านกพิราบ 6 ตุลา เขาได้หลบหนีเข้าป่าก่อนจะกลับเข้ามาศึกษาต่อและโด่งดังในเส้นทางของนักกวีและผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง (พธม.) และกปปส. ในเวลาต่อมา ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เจ้าของวลี “ผมไม่ใช่นั่งร้านรัฐบาลเผด็จการ แต่ผมใช้รัฐบาลเผด็จการเป็นนั่งร้านทำงานด้านศิลปวัฒธรรม”

.

​คนเดือนตุลาอย่าง คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในผู้เข้าร่วมและผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ผู้ซึ่งมีบทบาทในการร่วมทำหนังสือเฉพาะกิจ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ชนวนเหตุสำคัญที่เปิดเผยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของภาครัฐและนำมาสู่การขับเคลื่อนการชุมนุมในขณะนั้น และในปี 2518 เขายังมีบทบาทในฐานะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

​ภายหลังเหตุการณ์เขากลับมาสู่แวดวงหนังสือพิมพ์ด้วยผลงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองไทยอย่างต่อเนื่องก่อนจะเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังการรัฐประหารปี 2549 และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในปี 2550 ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

คนเดือนตุลาอย่าง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตหัวหน้าพรรคสัตยาเคราะห์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พรรคนักศึกษาหัวก้าวหน้าในสมัยนั้นที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยและเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาใน 14 ตุลา 2516 และในเส้นทางการเมืองเขาเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 สังกัดพรรคชาติไทย และสังกัดพรรคภูมิใจไทยและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม OctDem (Octoberists for Democracy) ในปัจจุบัน

​คนเดือนตุลาอย่าง “สหายใหญ่” หรือ ภูมิธรรม เวชยชัย ผู้มีบทบาทร่วมกับ เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ในการก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน พรรคปีกซ้ายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2517 และเป็นผู้มีบทบาทในฐานะแกนนำคนสำคัญของพรรคซึ่งได้ส่ง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ และส่ง สุธรรม แสงประทุม เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือ ศนท. ยุคสมัย 6 ตุลา

​ภายหลังเหตุกาณ์ 6 ตุลา เขาได้เข้าร่วมอยู่ที่เขตงานอีสานใต้ ก่อนจะถูกส่งตัวไปอยู่สำนักเอ 30 แขวงหลวงน้ำ สปป.ลาว และเข้าร่วมงานการเมืองในปี 2544 กับพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

​คนเดือนตุลาอย่าง “สหายสุภาพ” หรือ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตนายกสโมสรนักศึกษาเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทในปี 2518 ในสายธารประชาธิปไตยในฐานะรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ฝ่ายเศรษฐกิจ ร่วมกับสวาย อุดมเจริญชัยกิจ รองเลขาธิการฯ ฝ่ายการเมือง ซึ่งมีเกรียงกมล เลาหไพโรจน์เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และเข้าร่วมต่อสู้อุดมการณ์ทางการเมืองหลังปี 2519 ในพื้นที่ภูพยัคฆ์ น่านเหนือ

​ในปี 2529 เขาเข้าร่วมทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองอย่างไทยรักไทย เพื่อไทย และไทยรักษาชาติ ตามลำดับ เส้นทางทางการเมืองของสหายสุภาพที่ผ่านมานั้นเคยแสดงบทบาททางการเมืองทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ปัจจุบันกำลังปลุกปั้น “พรรคเส้นทางใหม่” ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้

​คนเดือนตุลาอย่าง “สหายจรัส” หรือ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตสมาชิกกลุ่มยุวชนสยาม เลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล ผู้ซึ่งเป็นแกนนำม่วง-เหลือง อันเปรียบได้กับคณะเสนาธิการของขบวนนักศึกษาในสมัย 6 ตุลา 2519 รวมทั้งยังเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่เขตอีสานใต้

​ภายหลังเหตุการณ์คลี่คลายลงเขาได้เข้ามาศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและรับราชการที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้ทำงานการเมืองในนามพรรคไทยรักไทย และรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ปัจจุบันเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทยและหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้ง OctDem (Octoberists for Democracy)

​คนเดือนตุลาอย่าง นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้เข้าร่วมในขบวนการนักศึกษาในปี 2519 และอดีตนายกสโมสรนักศึกษามหิดลในเวลาต่อมา หนึ่งในนักศึกษาผู้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคมในขณะนั้น แม้ในเวลานั้นสุรพงษ์จะไม่ตัดสินใจหลบหนีเข้าไปในป่าแต่ก็มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาและข้อเขียนของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการรวมกลุ่มเพื่อฟื้นบทบาทสโมสรนักศึกษา

​ชีวิตหลังเรียนจบเขารับราชการในฐานะแพทย์ชนบท อาจารย์แพทย์และรัฐมนตรีหลายกระทรวงโดยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทยและหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้ง OctDem (Octoberists for Democracy)

​ปัจจุบัน “คนเดือนตุลา” ต่างมีทิศทางการดำเนินการทางการเมืองที่แตกต่างกันและหลายครั้งด้วยแวดล้อมทางการเมืองที่แปรเปลี่ยนไปเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งต่อจุดยืนของพวกเขาที่ไม่เพียงแค่รักษาหากแต่ยังต้องปกป้องประวัติศาสตร์เดือนตุลาที่บ่อยครั้งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่ออ้างความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยให้แก่ตน

สุดท้ายแม้จะแตกต่างและอยู่คนละฝั่งการเมืองสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญที่คนเดือนตุลาไม่ควรจะแตกต่างกัน นั่นคือ การมองสังคมประชาธิปไตยไทยที่ควรจะเป็น สังคมซึ่งกาลเวลามิอาจพรากอุดมการณ์เดิมไปได้ และนั่นเป็นสิ่งที่สังคมไทย ณ เวลานี้กำลังตามหา

อ้างอิง

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, “มอง‘คนเดือนตุลา’กับสถานะ‘เดือนตุลา’ จากอดีตจนปัจจุบัน”, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2018/10/79022

ประชา บูรพาวิถี, “คนเดือนตุลา” จาก “นักศึกษา” สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?”,กรุงเทพธุรกิจ, https://www.bangkokbiznews.com/politics/964208

ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย, “คำนูณ สิทธิสมาน คนเดือนตุลา ส.ว. สรรหา หลายยุค”, The people, https://thepeople.co/kamnoon-sitthisaman-senator-2019/

มติชนออนไลน์, “เสียงจากนักวิชาการ-คนเดือนตุลาฯ กรณี “เอนก”ลั่น ถ้าย้อนเวลาได้ อาจไม่ร่วม 14 ตุลาฯ”,มติชนออนไลน์, https://www.matichon.co.th/politics/news_1289664

อินทรชัย พาณิชกุล, “ผมไม่ใช่นั่งร้านรัฐบาลเผด็จการ แต่ผมใช้รัฐบาลเผด็จการเป็นนั่งร้านทำงานด้านศิลปวัฒธรรม”, The momentum, https://themomentum.co/interview-politics…/