กระแสข่าวสารพัดถาโถมให้รัฐบาล “ชำรุดยุทธ์โทรม” เผชิญทั้งปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมรวมไปถึงการออกมาวิเคราะห์ของนักวิชาการ นักการเมือง ถึงการเมืองปีขาลว่าจะดุราวกับเสือ แน่นอนว่ากระแสของรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับการคาดหวังของสังคมว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเสียทีในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เลือกตั้งจริง (เลือกตั้งทั่วไป) ยังไม่เกิดแต่เลือกตั้งซ่อมนั้นมีให้เห็นชัดตั้งแต่ต้นปี
สำหรับการเลือกตั้งซ่อมนั้นมีมาแล้ว 7 ครั้ง โดยพรรครัฐบาลอย่างพลังประชารัฐส่ง 6 ครั้ง ชนะไปแล้ว 5 ครั้ง ซึ่ง 5 ครั้งการชนะติดต่อแบบต่อเนื่องหลัง ผู้กองธรรมนัส กลับมาคุมทีมจนกลายเป็นดาวซัลโวในศึกเลือกตั้งซ่อมเสียแล้ว ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งซ่อมใน 3 เขต คือ ชุมพร เขต 1 สงขลาเขต 6 และกรุงเทพฯ เขต9 ซึ่งสส.เดิม ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งทั้งจากกรณีกปปส.และคดีฉ้อโกง
สนามชุมพรเขต 1 นั้นมีผู้สมัครจาก 5 พรรคการเมืองอย่าง ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ไทยศรีวิไลย์ ก้าวไกล และพรรคกล้าเข้าต่อสู้ แต่สปอตไลท์ดูเหมือนจะส่องไปที่พรรคใหญ่อย่าง “พปชร.” และอดีตพรรคเคยใหญ่ “ปชป.” เสียมากกว่า
ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในเขตนี้ส่ง เลขาตาร์ท “อิสรพงษ์ มากอำไพ” หลานของ อดีต สส.ลูกหมีลงชิง โดยมีสาทิตย์ วงศ์หนองเตย คุมทีม ส่วนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่ง ทนายแดง “ชวลิต อาจหาญ”โดยมีสันติ พร้อมพัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ ดีกรี รมช. คลัง คุมทีม
ยึกยักพอสมควรสำหรับการส่งผู้สมัครของพปชร. หลังแว่วข่าวการซื้อตัว “จุลใสแฟมิลี่” ในเลือกตั้งครั้งหน้า แต่เมื่อการเมืองไม่แน่นอนและ จุลใสนั้นเป็นสาย กปปส.ที่ผูกพันกับลุงตู่ เป็นพิเศษ ทำให้พปรต้องตัดสินใจลงโค้งสุดท้าย
จุดแข็งของปชป. นั้นเห็นทีจะมาจากสส.ลูกหมี ตระกูลจุลใส ที่ครองพื้นที่มาอย่างยาวนาน เมื่อพ้นสส. อาจทำให้เรียกคะแนนความเห็นใจจากชาวบ้านไว้ได้ประมาณนึง และการส่งหลานลงอาจเป็นภาพจำในฐานะตัวแทนของ “ลูกหมี” ที่จะมัดใจคนชุมพรเขต 1 ได้
พปชร. จุดแข็งอยู่ที่การใช้อำนาจคน อำนาจรัฐ รวมถึงเครือข่ายแกนนำท้องถิ่นในคราวเลือกตั้งครั้งก่อน
ขณะเดียวกันจุดแข็งก็กลายเป็นจุดอ่อนได้ เมื่อ ผู้ใหญ่ตาล แห่งบ้านกปปส. “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ออกมาปูดเรื่อง เสธ ต. ขนพลพรรคทหารมาช่วยเคาะประตูบ้านหาเสียง ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้การต่อสู้ใต้ดินของบางพรรคกลายมาอยู่บนดินมากขึ้น ทั้งนี้ ท่ามกลางข่าวลือว่า“ผู้กองนัส”อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้
สำหรับสงขลาเขต 6 ส่งผู้สมัคร 4 พรรค “ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ก้าวไกล และพรรคกล้า” สปอตไลท์ส่องไปที่ ปชป.และพปชร.อีกเช่นเคย โดยปชป. ส่ง “คุณนายน้ำหอม” สุภาพร กำเนิดผล ภรรยา นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง ที่เพิ่งได้เป็นแม่ทัพภาคใต้มาอย่างหมาดๆ และคุมศึกครั้งนี้ด้วยตนเอง
ส่วน พปชร.ส่ง “น้องโบ๊ท” อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ทายาทนักธุรกิจชื่อดังพร้อมด้วย “เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น” คุมทีม ปชป. มีจุดแข็งจากบารมีและความเชื่อมั่น “นายกชาย” ที่ประกาศตัวว่าเป็นสมบัติของคนสงขลาทำงานเพื่อพื้นที่ กลยุทธ์นั้นมีทั้งรับและรุก กล่าวคือ จัดปราศรัยชนิดที่ว่าถี่ยิบ เคาะประตูบ้าน และแก้ข่าวทุกการออกมาโจมตี รวมถึงความพยายามการขายแบรนด์ สส. หญิง คนแรกของสงขลาให้กับชาวบ้านและเปลี่ยนจากคุณนายมาเป็น “น้องน้ำหอม” เพื่อหวังเข้าถึงประชาชนเหมือนที่อีกกลุ่มใช้
พปชร. จุดแข็ง คือ ชื่อเสียงผู้สมัครในฐานะทายาทนักธุรกิจซึ่งเป็นหัวคะแนนใหญ่ให้กับ “ถาวร” ในทุกสนามการเลือกตั้ง อีกทั้งการขายแบรนด์ คนรุ่นใหม่และใช้คำว่า “น้อง” และการใช้คำว่า “คนในพื้นที่ไม่ใช่คนนอกพื้นที่อย่างพรรคอื่น” ก็ถือว่าทำได้ดีและอ้อนคนเขต6 ได้พอสมควร
สำหรับในรอบสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งเห็นทีตัวผู้สมัครจะไม่สามารถชูโรงได้ การต่อสู้ครั้งนี้จึงปรับไปเป็นกลยุทธ์การหาเสียงเป็นแบรนด์พรรคล้วนๆ บนเวทีหาเสียงมีการพูดถึงการคืนศักดิ์ศรีให้กับคนใต้ ผสมโรงด้วยจุดอ่อนของพปชร.จากเหตุการณ์หมิ่นคนใต้ที่เกิดขึ้นในสงขลาเขต 6 พรรคประชาธิปัตย์จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ตอนสุดท้ายโดยการกล่อมวาทกรรม “หมิ่นคนใต้” “เหยียบคนสงขลา” “เหยียบคนใต้ให้ตาย” “ชิงปล้นกลางแดด”
ขุนพลแต่ละพรรคและวาทกรรมที่ออกมาในสนามเลือกตั้งซ่อมเห็นทีจะเหมือนเลือกตั้งใหญ่เข้าไปทุกที อย่างพปชร.ส่งทั้งหัวหน้าและเลขาพรรคออกมาสู้จนผอ.เลือกตั้งแทบไร้เงาในครั้งนี้ ส่วนปชป.ก็ส่งขุนพล นักปราศรัยมาเต็มที่ อย่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง เมธี ลาบานูน หรือแม้แต่พี่เอ้ “สุชัชวีร์” ที่แน่ๆ ประชาธิปัตย์ประกาศกร้าวทำนอง “ใช้น้ำไม่เผื่อแล้ง แกงไม่เผื่อเพื่อน ระวังจะลำบาก”
จึงต้องติดตามและดูว่าใครจะหมู่หรือจ่าในสนามวันอาทิตย์นี้ ศึกปลายเดือนต้นปี อีกที่อย่าง กทม. เขต9 ที่มีผู้สมัครถึง 8 คน จากพรรค “ไทยภักดี กล้า เพื่อไทย ยุทธศาสตร์ชาติ ไทยศรีวิไลย์ ก้าวไกล พปชร และพรรคครูไทย”
สปอตไลท์ส่องไปที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอำนาจนิยมเป็นหลักในสนามนี้โดย พปชร. ส่ง มาดามหลี “สรัลรัศม์ เจนจาคะ” ชูจุดเด่นสานงานต่อจาก “สิระ” อดีตสส. เพื่อไทยส่ง อ๊อบ “สุรชาติ เทียนทอง” อดีตสส. ชูจุดเด่นคนเพื่อไทยคนจริงในพื้นที่ ก้าวไกลส่ง “เพชร กรุณพล” เทียนสุวรรณ ชูจุดเด่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยเคียงข้างประชาชน และพรรคกล้าส่ง เอ๋ “อรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี” อดีต สส. ชูจุดเด่นเป็นกลาง แก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาในพื้นที่พรรคอื่นๆ ที่เหลือนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้สังเกตุการณ์การเลือกตั้ง
แม้สปอตไลท์ยังไม่ถูกส่องไปมากนักแต่ก็เป็นการชิมลางก่อนการเลือกตั้งได้ดี น่าสนใจที่ “ไทยภักดี” ที่มีจุดเด่นขายแนวคิดกษัตริย์นิยมและชาตินิยม แน่นอนว่าแบรนด์ที่ชัดมากขนาดนี้ย่อมทำให้คนฝ่ายขวาในเขตเทคะแนนให้พอสมควร
เสือสนามจริงอาจต้องรอพักเพราะลุงตู่ “ประยุทธ์” กำลังหาจังหวะลงหลังเสือ แต่สิงห์สนามซ่อมคราวนี้กำลังคุกรุ่นเมื่อฝ่ายรัฐบาลอย่าง “ปชป.” และ “พปชร.” สู้กันเองที่ชุมพร และสงขลา และที่น่าลุ้นกว่านั้นคือผู้กองนัส “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ไม่ได้คุมทีมในรอบนี้โดยเป็นทีม 6 รัฐมนตรี อย่าง สุชาติ ชมกลิ่น สันติ พร้อมพัฒน์ และชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์คุมทีมแทน
เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ใครจะเป็นสิงห์ไม่แน่ชัดแต่ที่แน่ๆ มีขุนพลหลายคนบาดเจ็บหนักแน่นอน รวมทั้งเอฟเฟคที่จะตามมาทั้งในพรรคพปชร.และนอกพรรคอย่างพรรคร่วมที่จะกินแหนงชนิดที่ว่ากู่ไม่กลับตลอดไป
ที่มา
ไทยรัฐออนไลน์, ““เสธ.ต” จุ้นเลือกตั้งชุมพร ทบ.ส่งกก.สอบ “กรณ์” แฉซื้อเสียง 2-3 พันบาท”, https://www.thairath.co.th/news/politic/2279321
บีบีซีไทย,“เลือกตั้งซ่อม กทม. : เปิดโจทย์การเมือง “พรรคเก่า-พรรคใหม่” ที่ใช้ศึกเลือกตั้งเขตหลักสี่-จตุจักร เป็นบททดสอบ”,https://www.bbc.com/thai/thailand-59878259
ประชาชาติ, “เปิดประวัติ 5 ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ชุมพร พรรคแกนนำรัฐบาล สู้แตกหัก”, https://www.prachachat.net/politics/news-835950