อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4 พาย้อนดูยุทธการฝ่ายค้าน
ก้าวสู่ปีที่ 4 สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 62 หรือ รัฐบาลประยุทธ์ 2 เรือแป๊ะภายใต้การนำโดยกัปตัน “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เจอทั้งภาวะลมกระโชกโฮกฮาก พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกอย่างไม่หยุดหย่อน แต่กระนั้นด้วยความดวงแข็ง หรือ ชะตาฟ้าลิขิตอย่างไรไม่ทราบได้ แม้จะชำรุดยุทธ์โทรมขนาดไหน ก็ยังเข็นต่อได้มาถึงปีที่ 4
แม้ฝ่ายค้านจะเปิดยุทธการสักกี่ครั้ง แต่ความแน่นปึ้กของ “3ป.” รวมถึงหลายมิตร ยังคงอยู่ ถึงจะโซซัดโซเซไปบ้างในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในยุทธการ “4 กันยา” ที่มิตรอย่างร้อยเอกนัส “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ขอแยกวงจนเสถียรภาพรัฐบาลระส่ำหนัก ปรับเปลี่ยน เติมกระสุนกันแทบไม่ทัน
วันนี้จึงขอเปิดยุทธการฝ่ายค้าน ทั้ง 4 ครั้งใน 4 ปี จะมีชื่อไหนเหตุการณ์ไหนน่าจดจำกันบ้าง ติดตามในบทความด้านล่างนี้ได้เลย
ในต้นปี 2563 การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 24 – 27 กุมภาพันธ์ ฝ่ายค้านนำโดย ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย และคณะ ใช้ชื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ว่า “ยุทธการอรุณรุ่ง” ในความหมายว่า ทุกอย่างในการอภิปราย มีเหตุผล เป็นข้อมูลที่ไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล นำโดย เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ใช้แผนเกลื้อจิ้มเกลือ ใช้ยุทธการ “ดับสุริยา” งัดขุนพลประท้วงพิทักษ์นายกฯ ขณะที่เหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้น คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยก่อนการอภิปรายเพียง 3 วัน
รวมถึงการปรับลดเวลาลงเหลือเวลา 54 ชั่วโมง จนทำให้การอภิปรายบุคคลสำคัญอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แทบจะไม่มี ทำให้ ส.ส.รังสิมันต์ โรม จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ต้องอภิปรายนอกสภาเพื่อไม่วางใจพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณและเครือข่ายป่ารอยต่อจนนำไปสู่คดีความในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีการแฉขบวนการ IO ของกองทัพ โดยมี ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิสร เป็นผู้อภิปราย
ในต้นปี 2564 การอภิปรายไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 16 – 19 กุมภาพันธ์ ฝ่ายค้านเปิดยุทธการ “กรีดแผลโรยเกลือ” โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และส.ส.ฝ่ายค้าน เปิดการนำการอภิปราย เสมือนในเเผลที่กรีดไว้ในสภาจากการบริหาราชการเเผ่นดินที่ล้มเหลวของรัฐบาและละเมิดหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ของรัฐมนตรี โดยจะมีกระบวนการทำงานต่อเนื่องในการดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช. หรือต่อศาล อีกในภายหลัง
เหตุการณ์สำคัญคงไม่พ้น การเปิดประเด็นเรื่อง “ตั๋วช้าง” ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล ที่ได้ออกมาอภิปรายนอกสภาหลังจากที่ถูกขัดขวางไม่ให้มีการได้พูดขึ้นภายในสภา รวมถึงการเปิดประเด็นเรื่อง บ้านพักหลวง ของ ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล พรรคก้าวไกล และการเปิดการทุจริตจัดซื้อถุงมือยางของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ของ ส.ส. ประเสริฐ จันทรรวงทอง พรรคเพื่อไทย รวมถึงเหตุการณ์ เหรียญหลวงพ่อป้อม ของนายสิระ เจนจาคะ ที่งัดออกมาในวันลงมติในวันที่ 20 กุมภา 64
ปลายปี 2564 ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายอีกครั้งในห้วงระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. ก่อนจะลงมติในวันที่ 4 ก.ย. โดยยุทธการครั้งนี้ฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทยใช้คำว่า ยุทธการ “หยุดยุทธ์ หยุดโอหังคลั่งอำนาจ หยุดความพินาศของประเทศ”
โดยตั้งเป้าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล โดยกำชับ ส.ส. ต้องลงตามมติของพรรค หากเป็นอื่นจะถือว่าเป็นการขัดฝ่าฝืนและถึงขั้นลงวินัย ซึ่งส.ส.ที่โดนขับ จากการอภิปรายครั้งนี้ มี 2 ท่าน คือ นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และนายศรัณย์วุฒิ ศรันย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์
เหตุการณ์ในครั้งนี้ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เมื่อ ส.ส.วิสาร เตชะธีระวัฒน์ พรรคเพื่อไทยออกมาปูดข่าวเรื่อง มีคนกำลังแจกเงินคนละ 5 ล้านบาท อยู่บนชั้น 3 ห้องนายกฯ เพื่อหวังซื้อคะแนนเสียงลงมติกลับมา หลังจากที่มีกระแสข่าวกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส มีการเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาล ขณะเดียวกันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.รังสิมันต์ โรม ก็เปิดประเด็นการเอื้อประโยชน์พวกพ้องในคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม ซึ่งมีเกี่ยวโยงกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี
การลงมติในวันที่ 4 ก.ย. ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนเกือบโหล่ไป 264 คะแนน ขณะที่สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้คะแนนไว้วางใจ 263 คะแนน ซึ่งต่อมาภายหลังมีการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร และนางสาวนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ออกจากตำแหน่ง เซ่นการอภิปรายในครั้งนี้
กลางปี 2565 จะเป็นครั้งสุดท้ายของการอภิปรายหรือของการเป็นรัฐบาลนั้น ฝ่ายค้านได้ประกาศยุทธการในครั้งนี้ออกมาแล้วในวันที่ 9 มิ.ย. ว่าเป็นยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” ในความหมายเพราะต้องการมุ่งอภิปรายไปที่หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ของพรรคที่เป็นแกนนำในซีกรัฐบาลเป็นหลักประกอบด้วยหัว 1 คน คือนายกรัฐมนตรี และนั่งร้านจาก 3 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน
การอภิปรายครั้งสุดท้ายนี้ ตามไทม์ไลน์ระบุว่า 15 มิ.ย. จะยื่นญัตติต่อประธานสภาฯ และประเด็นไหนเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นท่ามกลางเสถียรภาพและความคลอนแคลนของพรรครัฐบาลที่กำลังโดน “ผีผู้กองนัส” หลอกหลอนไม่เลิก จะสามารถล้มได้หรือไม่ คงต้องติดตามตอนต่อไป
.
ที่มา
– ฐานเศรษฐกิจ(2563), “ยุทธการ ‘ดับสุริยาก่อนอรุณรุ่ง’ สวนหมัดน็อกฝ่ายค้าน”, https://www.thansettakij.com/politics/422283
– พรรคก้าวไกล (2564), “เปิดแผนยุทธการโรยเกลือ”,https://www.moveforwardparty.org/news/2200/
– พรรคเพื่อไทย (2564), “เพื่อไทยเปิดยุทธการ “หยุดยุทธ์ หยุดโอหังคลั่งอำนาจ หยุดความพินาศของประเทศ” ลั่นกลองรบสู้ศึกซักฟอกไล่ประยุทธ์และพวกลงจากอำนาจ เผยมีแคนดิเดตนายกฯคนใหม่จ่อรอแล้ว”, https://ptp.or.th/archives/16717
– มติชนออนไลน์ (2565), “รัฐบาลเตรียมหนาว! ‘ฝ่ายค้าน’ จัดใหญ่เปิดยุทธการ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ ซักฟอก 10 รมต.”, https://www.matichon.co.th/politics/news_3390920