เวลาเราพูดถึงอินเดีย หลายคนก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แต่ในแง่ทางเศรษฐกิจก็ต้องบอกอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ตัวเลขการเจริญเติบโตมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่จับตามองของโลก
.
ในด้านการเมืองเองอินเดียก็ถือได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพราะอินเดียมีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน
.
ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ซึ่งมีการคาดกันว่าในอนาคตจำนวนประชากรของอินเดียจะแซงจีนในไม่ช้านี้ เนื่องจากอินเดียไม่ได้มีนโยบายจำกัดจำนวนประชากรเช่นเดียวกับจีน
.
มากคนย่อมหมายถึงความหลากหลายที่ติดตามมาด้วย อินเดียถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความแตกต่างกันของผู้คนมากที่สุดในโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธ์ ศาสนา ความเชื่อ ภาษา ศิลปะ รวมไปถึงวัฒนธรรม
.
ความหลากหลายเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่อินเดียได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1947 แม้ในภาพใหญ่ดูเหมือนอินเดียจะเป็นประเทศที่ไม่ได้มีปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงมากนัก แต่ความเป็นจริงนั้นต่างออกไป เพราะในหลายพื้นที่ของอินเดียมีขบวนการปลดแอกตัวเองเป็นอิสระภาพจากอินเดียที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่
.
หนึ่งในพื้นที่สำคัญคือดินแดนนากาแลนด์ หลายคนอาจคุ้นชื่อเพราะอาจได้ยินผ่านภาพยนต์ประวัตศาสตร์ของประเทศไทย ถูกแล้วครับกลุ่มคนนากานั้นก็คือหนึ่งในทัพที่หงสาวดีใช้เพื่อทำศึกกับอยุธยา ซึ่งคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเขตติดต่อระหว่างอินเดียและพม่าในปัจจุบัน
.
แม้ว่าในปัจจุบันนากาแลนด์มีสถานภาพเป็นรัฐหนึ่งของอินเดียซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แต่นับตั้งแต่อังกฤษถอนตัวออกจากอินเดีย คนนากาจำนวนมากก็มีความฝันสูงสุดของตัวเองที่จะได้ตั้งตนเป็นประเทศเอกราช
.
ในช่วงแรกขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชของชาวนากานั้นมุ่งเน้นการใช้แนวทางสันติวิธีผ่านการเคลื่อนไหวของสภาแห่งชาตินากา
.
อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาการเจรจาที่ไม่ลงตัวระหว่างผู้นำอินเดียและชาวนากาส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงกลายเป็นการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียในปี 1956 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอินเดียและกลุ่มชาติพันธ์ชาวนากา
.
ความรุนแรงของการปะทะกันนั้นได้สร้างบาดแผลลึกเข้าไปในใจของชาวนากาจำนวนมาก มีรายบันทึกมากมายเกี่ยวกับการกระทำของทหารอินเดียภายในพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ หรือการข่มขืนชาวนากา
.
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความเกลียดชังของคนนากาต่ออินเดียมีอยู่เต็มไปหมดจนอาจเรียกได้ว่าเป็นการยากที่จะผสานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย
.
หลังจากปัญหาความขัดแย้งนี้ลุกลามไปมากยิ่งขึ้น รัฐบาลอินเดียได้มีความพยายามอย่างมากในการปรับนโยบายของตัวเองในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 รัฐบาลอินเดียตัดสินใจแบ่งแยกรัฐนากาแลนด์ขึ้นเป็นพื้นที่ปกครองแยกขาดจากรัฐอัสสัม และให้สิทธิการปกครองตนเองบางส่วน
.
มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติของนากาแลนด์ในปี 1964 ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อเป็นพื้นที่สะท้อนตัวแทนทางการเมืองของชาวนากาในพื้นที่เพื่อออกกฎหมายและดำเนินนโยบายการบริหารภายในพื้นที่
.
อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการกระทำฝ่ายเดียวของทางรัฐบาลอินเดียเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มเคลื่อนไหวในนากาแลนด์คือการได้รับเอกราชอย่างแท้จริงไม่ใช่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย ส่งผลให้กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังคงจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
.
แม้ว่ารัฐบาลอินเดียและกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนของชาวนากาจะมีการต่อสู้กันอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งสองฝ่ายไม่เปิดการเจรจากันเลย เพราะในความเป็นจริงแล้วทั้งสองฝ่ายมีการเจรจากันอย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาแนวทางสันติภาพภายในพื้นที่ และพยายามผลักดันให้เกิดการหยุดยิงระหว่างสองฝ่าย
.
สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการยอมวางอาวุธของขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกประเทศนากากลุ่มใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1970 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากลุ่มเคลื่อนไหวอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่กระจายในหลายเขตของรัฐนากาแลนด์จะยอมวางอาวุธตามไปด้วย
.
ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลอินเดียและสภาแห่งชาตินากาได้มีการเริ่มตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพนากาขึ้น และในปี 1975 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพนาคาแลนด์
.
โต๊ะเจรจาสันติภาพดังกล่าวช่วยให้ทั้งสองฝ่ายแสวงหาแนวทางร่วมกันในการจัดการสันติภาพภายในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวย่อย ปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียอยู่บ้าง แต่ก็มีสัดส่วนที่ลดลง
.
ความสำเร็จครั้งสำคัญของโต๊ะเจรจานี้คือการได้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสองฝ่ายในปี 1997 ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อการริเริ่มโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่นากาแลนด์ของรัฐบาลอินเดีย เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ดังกล่าวภายหลังเกิดความขัดแย้งอย่างยาวนาน
.
ในขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียก็ได้มีการขับเคลื่อนนโนบายปรองดองเพื่อสร้างปัญหาความเข้าใจและลดความบาดหมางระหว่างกองทัพกับชาวนากาในระหว่างช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา
.
และภายหลังการเจรจากันระหว่างกันกว่า 80 ครั้งข้อตกลงสันติภาพนากาแลนด์ออกมาเป็นรูปร่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปี 2015 ซึ่งจะให้การยอมรับในความแตกต่างทางด้านชาติพันธ์ วัฒนธรรม และภาษาของชาวนากาที่มากยิ่งขึ้น และเพิ่มอำนาจในการปกครองตนเองของชาวนากา
.
อย่างไรก็ตามข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวยังคงเผชิญปัญหาการบังคับในหลายมิติโดยเฉพาะความหลากหลายของกลุ่มติดอาวุธภายในพื้นที่นากาแลนด์ซึ่งมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไปบางส่วนปรับเปลี่ยนแนวคิดและยอมรับในข้อเสนอของรัฐบาลอินเดีย
.
ในขณะที่เป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธบางส่วนยังคงมุ่งหวังที่จะนำพานากาแลนด์เป็นอิสระภาพจากรัฐบาลอินเดีย และสิ่งเหล่านี้ยังรวมไปถึงข้อติดขัดในประเด็นเรื่องปัญหาความขัดแย้งก่อนหน้านี้ซึ่งประชาชนชาวนากาได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปฏิบัติการทางการทหารของอินเดีย
.
สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีกระบวนการเยียวยาประชาชนที่ชัดเจน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลอินเดียที่กระทำผิดบางส่วนยังไม่ได้รับบทลงโทษที่ชัดเจน
.
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กระบวนการปรองดองและสันติภาพภายในพื้นที่นากาแลนด์ของอินเดียยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างที่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าจุดจบของมันจะอยู่ที่ใด แต่ที่แน่ ๆ บทเรียนจากนากาแลนด์ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการเจรจาเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันบนความเห็นต่างทางการเมืองและความมั่นคง
.
ยิ่งไปกว่านั้นคือการยอมรับในความผิดพลาดทางด้านนโยบายและปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านความมั่นคงถือเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของอินเดียในอดีตก่อนที่จะหันหน้ามาใช้ช่องทางการเจรจา
.
ฉะนั้นปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่นากาแลนด์ให้บทเรียนเราว่าการใช้กำลังอำนาจทางทหารนั้นไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระดับพื้นที่ แต่ทางกลับกันหากไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาดมันย่อมนำมาซึ่งบาดแผลและรอยร้าวลึกภายในใจของประชาชนในระดับพื้นที่
.
อ้างอิง
– บทความ Post covenant of reconciliation: What is the goal of Forum for Naga reconciliation? โดย M. Sashi Jamir ใน Nagaland Post
– งานวิจัย In Search of Peace in Manipur: Lessons from Nagaland ของ Gurinder Singh
– งานวิจัย CEASE-FIRE POLITICS IN NAGALAND ของ Gordon P. Means
– บทความ The challenge of peace in Nagaland ของ RUPAK CHATTOPADHYAY
– งานวิจัย The Indian Northeast: India’s Shift from Colonised to Coloniser ของ Leoni Connah
– งานวิจัย “Constitution of India, Peace Process and Crisis Management: A Study of Naga Peace Agreement” ของ Ambika Gupta