คู่แข่งคนสำคัญในศึกการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2556 ในขณะนั้นที่ถือ 2 ตัวเต็งในจำนวนผู้สมัคร 25 คน คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เบอร์ 16 หรือที่คุ้นชื่อกันในนาม “ชายหมู” จากพรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หรือ “จูดี้” เบอร์ 9 จากพรรคเพื่อไทย
การลาออกก่อนครบวาระเพียง 1 วัน ของสุขุมพันธุ์ นำมาสู่การเปิดโอกาสให้คู่ท้าชิงจากพรรคเพื่อไทยออกตัวประกาศแข่งขันท่ามกลางความยึกยักของพรรคประชาธิปัตย์ที่ตัดสินใจประกาศส่งผู้สมัครช้ากว่าที่ควร ด้วยความลังเลว่า คุณชายสุขุมพันธุ์อาจไม่โดดเด่นเท่าที่ควรรวมถึงความกังวลที่ว่าหากส่งคนเดิมลงอาจเจอคนกรุงฯ สั่งสอนก็เป็นได้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมส่งคนเดิมเพื่อรักษาเก้าอี้เอาไว้
ถัดมาดูผลโพลความนิยมที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง ในขณะนั้นปรากฏว่าคะแนนนิยมของพงศพัศ นำอยู่ในทุกสำนัก อาทิ บ้านสมเด็จโพล คนเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 40% เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 38% ENTRY POLL สวนดุสิต คนเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 49% เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 39%
Pre-poll นิด้า คนเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 43% เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 41% กรุงเทพโพลล์ คนเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 44% เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 41% สวนสุนันทาโพล คนเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 43% เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 39% และยังมีการคาดการณ์ว่า พงศพัศจะได้คะแนนไปราวหลักล้าน ขณะที่ชายหมูคงคะแนนแค่แปดแสนเท่านั้น
ในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งวันที่ 3 มี.ค. 56 มีสภาวะที่ฝนตก และการแถลงของผู้สมัครเป็นระยะๆ มีทั้งความมั่นใจและน้อยใจประสมกันไป แต่สุดท้ายปรากฏผลคะแนนชนิดหักโพลที่ว่า คนกรุงฯ ออกมาใช้สิทธิในโค้งสุดท้ายก่อนการปิดหีบลงคะแนนเยอะจนนำไปสู่ชัยชนะของชายหมู สุขุมพันธุ์ ชนิดที่ว่าสร้างความประหลาดใจให้คู่ท้าชิงฝั่งตรงข้าม
ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ในโค้งสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมจากพรรคประชาธิปัตย์ และสถานการณ์ที่ต้องเลือกกระทำด้วยเหตุนั้นรวมทั้งการขุดแผลของพรรคเพื่อไทยในครั้งอดีตต่อเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช.ในปี 2553
ประชาธิปัตย์เริ่มต้นด้วยการจัดทำ สติกเกอร์สีชมพู ติดตามป้ายประชาสัมพันธ์หาเสียง ของ ผู้สมัครพรรค โดยมีข้อความเชิญชวน ว่า “ผมทำจริง เพื่อคนกรุงเทพฯ, ซื่อสัตย์ ไม่โกง, รวมพลังหยุดผูกขาดประเทศไทย” พร้อมกับการปราศรัยในเวทีของพรรคในฐานะพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นในการเปิดโปงพฤติกรรมต่างๆ ของรัฐบาล ชนิดที่ว่าสร้างความตื่นกลัวให้คนกรุงฯ ถึงเหตุการณ์ครั้งเก่าก่อน อย่าง “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”
ในการปราศรัยของพรรคเพื่อไทยหลายครั้งต่อหลายครั้งออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของการบริหารงานของคุณชายในยุคที่ผ่านมาทั้งเรื่องอุโมงค์ยักษ์ และกรณีขยายสัมปทานรถไฟฟ้า รวมถึงความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความไม่ลงเอยและมีกระแสข่าวว่าหากพรรคไม่ส่งสุขุมพันธุ์จะลงในนามอิสระ พรรคเพื่อไทยออกมาขยายประเด็นนี้มากขึ้นถึงการที่คุณชายมีแผลถึงขนาดพรรคไม่ยอมส่งและถึงขั้นจะทิ้งพรรค
สุขุมพันธุ์ออกมาตอบโต้ในครั้งนั้นในเวทีสวนลุมพินี ว่า “ทำไมถามอย่างนี้ ดูถูกกูฉิบหายเลย” “คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ดูถูกกูฉิบหายเลย” “อย่าดูถูกกู เพราะกูคือ คนของพรรคประชาธิปัตย์” จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในข้ามวัน และทำให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ออกมาโพสต์ข้อความว่า คำพูดดังกล่าวไม่เหมาะสม และไม่เป็นแบบอย่าง ฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วคนกรุงเทพฯ พร้อมใจกันเลือกถึง 2 สมัย ผมว่า “ไม่ใช่หมูๆ” นะครับ น่าจะต้องสร้างความประทับใจให้กับคนกรุงเทพฯ พอสมควร
นอกจากนี้ยังมีแคมเปญที่ว่า “เลือกหนึ่งเหมือนได้สอง” ได้ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกมาเป็นทีมงานด้วย รวมถึงการปั้นกระแสข่าวที่ว่าหากเลือกเพื่อไทยเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะได้รองผู้ว่าฯ ชื่อ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.เป็นรองผู้ว่าฯ พร้อมกับวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองที่เป็นที่จดจำของคนกรุง
สำหรับพรรคเพื่อไทยเห็นทีจะออกแนวตั้งรับมากกว่า เพราะรัฐบาลในขณะนั้นอยู่ในสภาพที่กระท่อนกระแท่นทั้งจากการเผชิญข่าวความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว พ.ร.บ.ปรองดอง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือความพยายามแก้กฎหมายเรื่องที่มาของ ส.ว. รวมทั้งแผลเก่าอย่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง (นปช.)
แม้จะมีการตั้งรับแต่ก็มีการรุกเป็นระยะๆ จาก แกนนำในพรรค อย่างเช่น การออกมาแก้เกมของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และการออกมาล้อเลียนชายหมู ซึ่งในสายตาคนชั้นกลางกทม. คงไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เท่าไหร่นัก โดยข้อความการออกมาสาบานต่อกรณีเผาบ้านเผาเมือง มีความว่า
“หากผม และแกนนำเสื้อแดง รู้เห็น สั่งการ วางแผน เตรียมการ หรืออยู่เบื้องหลังการเผาบ้านเผาเมือง จงขอให้พวกผมพินาศล่มจมในวันนี้พรุ่งนี้ แต่หากเรื่องการเผาบ้านเผาเมืองไม่เกี่ยวกับตน แต่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีของฝั่งตรงข้าม ก็ขอให้พวกนั้นล่มจมเช่นกัน ให้เริ่มเห็นผลตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ไปเลย”
นอกจากนี้ยังมีกรณีการสไกป์เข้ามาของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต่อมา แกนนำพรรครีบออกตัวว่าเป็นคำพูดของตนไม่ใช่ของอดีตนายกฯ ในข้อความว่า “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ” ในลักษณะเย้ยหยันคู่แข่งจากพรรคตรงข้ามว่าไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งใครหรือเสาไฟฟ้าลงสมัครก็จะชนะสุขุมพันธุ์ อย่างแน่นอนเพราะคนกรุงเบื่อการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์
การแสดงความมั่นใจและประมาทของพรรคเพื่อไทย ด้วยการสำรวจจากโพลทุกสำนักในลักษณะความนิยมที่นำ นำมาสู่ความเพลี่ยงพล้ำหลากหลายกรณี อันจะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของรองนายกฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สัมภาษณ์ว่าจะงดให้สัมภาษณ์เป็นเวลา 10 วัน หากผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข 9 ของพรรคเพื่อไทย แพ้การเลือกตั้งที่จะถึง
ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์ก่อนการเลือกตั้ง 2 วัน ของสุขุมพันธุ์ ที่ถอดใจเมื่อเจอกับคะแนนที่ตามมาโดยตลอด ถึงขั้นแถลงโค้งสุดท้ายทั้งน้ำตาและเสียงสั่นเครือ ด้วยวลีที่ว่า “ขอขอบคุณความไว้วางใจตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ความรักที่คนกรุงเทพมีให้ ผมจะไม่ลืมวันนั้น เพราะคนที่รักกรุงเทพฯ ต้องสร้างกรุงเทพฯ ด้วยกัน”
สุดท้าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด คะแนนของคุณชายกลับมาพลิกชนะคู่แข่งราว สองแสนคะแนน โดยได้คะแนนมากสุดนับแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อยู่ในสัดส่วนคะแนนที่ 1,256,349 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิกว่า 63.98% จึงขอเตือนว่า อะไรที่มั่นใจสุดท้ายอาจไม่ใช่อย่างที่คิดสำหรับความรู้สึกคนกรุงเทพฯ ที่ ผันเปลี่ยนราวกับสายน้ำที่เชี่ยวกราก ได้แต่หวังว่ารอบนี้จะไม่มีใครแพ้เพราะวาทกรรมก็เป็นพอ!!
ที่มา
– TCIJ, “เบื้องหลังเลือก ‘ขุนศึก’ 2 พรรคใหญ่ ใครคือเจ๊ดัน ‘พงศพัศ’ ชิงผู้ว่ากทม. ทำไม ‘สุขุมพันธุ์’ ไม่เปิดทางคนอื่น”, https://www.tcijthai.com/news/2013/07/scoop/1797
– Posttoday, “พท.ปัดแม้วพูดส่งเสาไฟฟ้าชิงผู้ว่าฯ กทม.ยังชนะ” ,https://www.posttoday.com/politic/news/197552
– กรุงเทพธุรกิจ, “’สุขุมพันธุ์’ น้ำตาซึม ขอโอกาสสานงานต่อ 4 ปี”, https://www.bangkokbiznews.com/politics/492531
– สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ), “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.: ปชป.ทำสติกเกอร์เชิญชวนคนกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิ์”, https://www.ryt9.com/s/iq02/1599613