เป็นที่ทราบกันดีว่า วิกฤตด้านพลังงานเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทั้งไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ ส่งผลต่อการปรับตัวทั้งด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้ง ค่าน้ำมัน แก๊สหุงต้ม และหนึ่งในนั้นที่รวมอยู่ด้วย คือ ค่าไฟฟ้า
การเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าที่พูดถึงในปัจจุบัน เป็นการปรับคำนวณ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT โดยอิงจากราคาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าถึงร้อยละ 60
โดยจะมีการพิจารณาทบทวนกันทุกๆ 4 เดือน ในเรื่องของราคาเชื้อเพลิงดังกล่าว ซึ่งแนวโน้ม ณ ขณะนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและปัจจัยภายในประเทศที่ความสามารถในการผลิตก๊าซเพื่อใช้เองลดน้อยลง
การอิงราคาก๊าซธรรมชาติ จะเป็นปัจจัยกำหนดค่า FT โดยหากราคาก๊าซขึ้น ค่าFTก็จะเป็นบวก กลับกันหากราคาลงค่า FT ก็จะติดลบ
แปลความหมายได้ว่า หากค่า FT เป็นตัวเลขติดลบ การไฟฟ้าจะนำตัวเลขค่า Ft ไปหักจากค่าไฟฐาน ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ต้องจ่ายจะลดลง แต่กลับกันหากค่า Ft เป็นบวกและมีการปรับตัวสูงขึ้น จะต้องบวกค่า Ft เข้าไปกับค่าไฟฐาน ผู้ใช้ไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้น
ยกตัวอย่าง ในรอบปัจจุบัน พ.ค.-ส.ค. 2565 ค่า FT ปรับขึ้นจากเดิม +23.77 สตางค์ต่อหน่วย อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นงวดที่ 2 ที่ค่า FT เป็นบวก หลังจากที่ ติดลบติดต่อกัน 19 งวด ตั้งแต่ พ.ย. 58
แต่ถึงอย่างไรภาครัฐมีนโยบายในการเข้ามาเพื่อแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาอยู่ตลอด โดยปัจจุบันเป็นส่วนลดในใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า ส่วนลดค่า FT 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจ่ายเงินส่วนลดค่า FT ที่ว่า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือที่เรารู้จักกันในนาม กฟฝ. หรือ EGAT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าและจัดหาไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ
และตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน กฟผ. รับผิดชอบค่าภาระค่าเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในส่วนนี้แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท
และมีความพยายามในการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการกู้เงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินแต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลังในปัจจุบันได้ แม้จะมีกำไรสะสมของ กฟผ. จำนวน 3.29 แสนล้านบาท ที่ปรากฏในงบแสดงฐานะทางการเงิน
แต่กำไรส่วนนั้นไม่ใช่เงินสด แต่เป็นตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ. นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ประชาชน อาทิ โรงไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า ในตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ จึงทำให้ไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาจ่ายชดเชยค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้
กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง และวิงวอนรัฐให้เข้ามาช่วยดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
ทั้งนี้ทางหน่วยงานเร่งหาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีมาตรการที่ดำเนินไปแล้ว
เช่น ปรับแผนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกก่อน เลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกในการผลิตไฟฟ้า ดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น สู่เป้าหมายลดใช้พลังงานลงร้อยละ 20 เพื่อช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาสูงจากต่างประเทศ เป็นต้น