ในวาระครบรอบเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายชั่วอายุคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
ครั้งนี้ NewsXtra อยากชวนย้อนทบทวนเหตุผลสุดฮิตที่มักถูกยกขึ้นมาอ้างเพื่อกระทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเราจะวิเคราะห์จากเนื้อหาสาระตามประกาศและคำแถลงของคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2534 ไปจนถึงปี 2557
ทั้งนี้ทุกครั้งที่มีการประทำรัฐประหารจะมีการจัดตั้งคณะการปกครองขึ้นมาในชื่อที่แตกต่างกันเช่น “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ: รสช.” (2534) “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: คปค.” (2549) และ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ: คสช” (2557)
โดยเมื่อครั้งมีการยึดอำนาจการปกครองคณะบุคคลเหล่านี้จะมีแถลงการณ์หรือเอกสารในการให้เหตุผลในการกระทำดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจกับปประชาชน ซึ่งเหตุผลที่มักปรากฎในเอกสารเหล่านั้นประกอบด้วย
เหตุผลที่หนึ่งซึ่งปรากฎในคำแถลงรัฐประหารปี 49 และ 57 คือ บ้านเมืองแตกแยกและเกิดความไม่สงบ จนเป็นเหตุใหมีผู้คนได้รับบาดเจ็บ ประชาชนแตกความสามัคคีอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
เหตุผลที่สองอันเป็นที่มาของการรัฐประหารโดยเฉพาะการรัฐประหารปี 34 และ 49 คือเรื่องปัญการทุจริตของรัฐบาลเกิดการทุจริต โดยมีการระบุว่าคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้พวกพ้อง และฉ้อราษฎรบังหลวงกันอย่างกว้างขวาง
อีกข้ออ้างที่ถูกใช้ซ้ำถึง 2 ครั้งทั้งในการรัฐประหารปี 34 และ 49 คือฝ่ายการเมืองครอบงำและกดขี่ข้าราชการประจำ โดยเฉพาะในปี 49 มีการระบุว่าองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกครอบงำจนไม่สามารถแสดงบทบาทได้อย่างอิสระตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับเหตุผลสุดท้ายซึ่งถือเป็นจุดร่วมกันของการรัฐประหารทั้ง 3 ครั้งคือการอ้างประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการรัฐประหารปี 34 มีการยกปัญหาการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่จงรักภักดี
ในขณะที่การรัฐประหารปี 49 ระบุว่า “การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์”
สำหรับการรัฐประหารปี 57 นั้นมีการระบุว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้องเทิดทูน ดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์”
ฉะนั้นจะเห็นว่าในการรัฐประหารทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมานั้น มีการอ้างเหตุผลที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาการทุจริตในภาครัฐ ปัญหาความไม่เป็นอิสระของข้าราชการ และสุดท้ายคือประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์