เศรษฐกิจ “ศรีลังกา” วิกฤต โควิด-19ทำให้รัฐบาลกู้เงินมาพยุงเศรษฐกิจเกินกำลัง
ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ตอนนี้กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะภายหลังเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ซึ่งส่งผลให้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวตกลงอย่างมาก
ที่สำคัญการปิดประเทศส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 10 ของ GDP หายไปอย่างทันตา ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในภาคบริการขาดรายได้มาเป็นเวลายาวนาน นั่นยังไม่เลวร้ายเท่าในช่วงปีที่ผ่านมาศรีลังกาเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักจากราคาอาหารและสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน
โดยเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วอัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาพุ่งสูงถึงร้อยละ 11.1 ในขณะเดียวกันธนาคารโลกยังได้มีการคำนวณสถานการณ์ความยากจนของศรีลังกาในช่วงโควิดที่ผ่านมาพบว่า อาจมีประชากรมากถึงกว่า 5 แสนคนที่ตกไปอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างวิกฤตในช่วงโควิดที่ผ่านมาส่งผลให้รัฐบาลศรีลังกาจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากทั้งจากภายในประเทศ และจากภายนอกประเทศเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ให้กู้รายใหญ่ก็จะมีประเทศอย่างจีน และอินเดีย
แต่ด้วยเดิมศรีลังกามีการกู้เงินจำนวนมากจากภายนอกเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว ส่งผลให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เมื่อมีการคำนวณกันว่าในปีนี้ศรีลังกาอาจต้องใช้หนี้มากถึง 7.3 พันล้านเหรียญ ในสภาพที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเพียง 1.6 พันล้านเหรียญเท่านั้น
สภาพเศรษฐกิจของศรีลังกาในเวลานี้จึงเหมือนกับใกล้ล่มสลายเต็มที่แล้ว จนต้องเดินหน้าขอขยายเวลาชดใช้เงินกู้ยืมจากหลายประเทศ ทั้งจีนและอินเดีย ในขณะเดียวกันก็ต้องหาเงินกู้ใหม่ ๆ เข้ามาพยุงเงินเฟ้อภายในประเทศด้วย
อ้างอิง
-https://www.reuters.com/world/asia-pacific/shocks-missteps-how-sri-lankas-economy-ended-crisis-2022-02-25/
-https://www.theguardian.com/world/2022/mar/02/milk-sachets-chicken-fuel-basics-slip-out-of-reach-for-sri-lankans-as-economic-crisis-bites