(20 ก.ย.) เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดังนี้
ใครใคร่ขอโทษใคร ก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ผมไม่จำเป็นต้องขอโทษใคร
เมื่อมีการพูดถึงการรัฐประหาร ของ คมช.เมื่อปี 2549 และคสช. ปี 2557 กันอย่างกว้างขวาง ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่สนับสนุนการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารซึ่งเป็นการบริหารประเทศของเผด็จการ ซึ่งอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อต้านการปกครองของเผด็จการทุกรูปแบบ
ช่วงนี้ได้มีหลายคนออกมาขอโทษต่อคุณทักษิณบ้าง ต่อแกนนำ นปช. บ้าง ต่อคนเสื้อแดงบ้าง สำหรับผมได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ กับกลุ่มพันธมิตร และ กปปส. ผมขอยืนยันว่า ผมได้การตัดสินใจถูกต้องแล้ว ผมในการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนทุกครั้ง ผมจะไม่ขอโทษต่อบุคคลใด กลุ่มใด และยืนยันว่าสิ่งที่ได้ทำไป เป็นความถูกต้องทุกประการ เพราะเงื่อนไขทางการเมือง ในตอนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ด้วยเหตุผล คือ
1. รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ได้ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แบบสุดซอย จนเป็นที่มาของการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
2. มีการเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นผู้รักษาการแทน แต่กลับยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ยอมลาออกจากเป็นรัฐบาลรักษาการ จนมีการยึดอำนาจ ของ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น
3. บ้านเมืองเดินมาสู่ทางตัน มีการเผชิญหน้าของมวลชน มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.และกลุ่ม นปช. จึงเป็นข้ออ้างของ คสช. เข้ามาควบคุมอำนาจ เพื่อรักษาความสงบของประเทศ
เมื่อมีการรัฐประหารของ คสช.เกิดขึ้น ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาประเทศของ คสช.คือ
1. คสช. ไม่ได้เข้ามาเป็นผู้รักษาความสงบ ในฐานะคนกลาง แต่ได้สร้างขั้วอำนาจ ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
2. ไม่มีการปฏิรูปทางการเมืองตามข้อเรียกร้องของประชาชน เรื่อง ปฎิรูปก่อนเลือกตั้ง และไม่ทำตามคำสัญญาที่บอกว่า รออีกไม่นาน จะคืนความสุขให้กับประชาชน
3. มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วถูกคว่ำไป เพื่อซื้อเวลาต้องการอยู่ในอำนาจเป็นรัฐบาล คสช. ให้ยาวนานที่สุด
4. มีการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง กำหนดให้ ส.ว.250 คน มีสิทธิ์ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หวังผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
5. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนสถานะตัวเอง จากการเป็นกรรมการผู้ตัดสิน มาเป็นผู้เล่นเสียเอง เขียนกติกาเอง ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งของสังคมกับทุกฝ่าย
6. มีการอ้างความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านประชามติ ทั้งที่มีข้อจำกัดการรณรงค์ของฝ่ายเห็นต่าง และเป็นการทำประชามติ ในขณะที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และมี ม.44 บังคับใช้อยู่
ใครจะขอโทษใคร ก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่สำหรับผมจะไม่ขอโทษใคร แต่จะสู้ต่อไป เพื่อประชาธิปไตย และทำลายล้างเผด็จการทุกรูปแบบ หมดสิ้นจากผืนแผ่นดินไทย