ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ได้เริ่มต้นเปิดฤดูกาลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศเสียงเชียร์ของแฟนบอลที่สามารถเข้ามารับชมเกมการแข่งขันได้เต็มความจุของสนาม ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ในโลก ยังมีความรุนแรงในหลายประเทศก็ตาม
สัปดาห์นี้หลายทีมที่สามารถทำผลงานได้ดีตามเป้า คว้าสามแต้มไปครองได้สำเร็จ ทั้งลิเวอร์พูลที่นำจ่าฝูงมี 6 แต้ม และแมนซิตี้ก็เก็บ 3 คะแนนแรกได้แล้ว หลังปราชัยมาในนัดแรก แต่ไฮไลท์สัปดาห์นี้อยู่ที่คู่ดึกคืนวันอาทิตย์ “ลอนดอน ดาร์บี้แมตซ์” เวลา 22.30 อาร์เซนอล เปิดบ้านรับการมาเยือนของเชลซี ใครจะคว้าชัยครองความได้เปรียบในเกมแรกได้ก่อน ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
ในบทความชิ้นนี้ NewsXtra จะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของเกมการแข่งขันพรีเมียร์ลีกอังกฤษจากที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน รวมถึงกติกาบางอย่างที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมฟุตบอลในฤดูกาล 2021/2022 ให้มีความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจมากยิ่งขึ้น
เพิ่มข้อมูล “อัตราความสามารถในการเอาชนะ” ในกราฟิกช่วงการถ่ายทอดสด
โดยฤดูกาลที่ผ่านมา จะมีเพียงข้อมูลเปอร์เซ็นต์การครอบครองบอล (Possession) ของทั้งสองทีมหรือตัวเลขสถิติการเข้าทำ (Attempt) เป็นกราฟฟิกให้เราเห็นบริเวณด้านล่างของผลการแข่งขัน (มุมบนจอซ้ายมือ)
สำหรับคอบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ อาจแปลกใจกับกราฟิกรูปแบบใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นบนหน้าจอถ่ายทอดสดในฤดูกาลนี้ นั่นคือ การเพิ่มข้อมูลอัตราความสามารถในการเอาชนะของทั้งสองทีมแสดงเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ ด้วยการวิเคราะห์ของคอมพิวเตอร์จากผลงานภาพรวมแบบเรียลไทม์
เช่น ในขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังนำลีดส์ ยูไนเต็ด อยู่ 5 ประตูต่อ 1 อัตราความน่าจะเป็นของลีดส์ ยูไนเต็ด ที่จะสามารถพลิกกลับมาชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ จะอยู่แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น!
เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์ใหม่ (Features) ที่ทางพรีเมียร์ลีกเพิ่มเข้ามาให้ผู้ชมทางบ้านได้ติดตามลุ้น เชียร์ทีมรักให้พลิกกลับมาเอาชนะให้ได้ ซึ่งถ้าทีมที่เรารักสามารถเปลี่ยนเกมจากที่กำลังเพลี้ยงพล้ำคู่ต่อสู้ให้พลิกนรกแซงกลับมาเอาชนะได้นั้น เลือดลมในร่างกายเราคงจะสูบฉีดมิใช่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นทีมเล็กที่ยัดเยียดความปราชัยให้ทีมใหญ่ได้
ยิ่งเพิ่มความบันเทิงเริงใจให้แฟนบอลไปอีก
เส้นล้ำหน้าที่หายไป…
เส้นล้ำหน้าเจ้าปัญหาในฤดูกาลที่ผ่านมาได้หายไปแล้ว เรียกได้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปรับใหม่ในฤดูกาลนี้ แลกมาด้วยการรับชมการแข่งขันฟุตบอลที่สบายตามากขึ้น ดราม่าน้อยลง เพราะเส้นล้ำหน้าก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างมากในหมู่แฟนบอลและผู้ส้นทัดกรณี เนื่องจากทีมงานกรรมการ VAR ผู้ทำหน้าที่ตีเส้นเพื่อวัดว่าจังหวะการเข้าทำของผู้เล่นเกมรุกจะล้ำหน้าหรือไม่ มีผลอย่างยิ่งกับการตัดสินว่าลูกยิงนั้น
จะกลายเป็นประตูหรือไม่ มากไปกว่านั้น สามารถตัดสินผลแพ้ชนะหรือเสมอได้ด้วย หากในการแข่งขันมีโอกาสทำประตูเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
อย่างไรก็ดี เส้นล้ำหน้าที่จางหายไปจากจอภาพไม่ได้หมายความว่า กฎการล้ำหน้าจะเปลี่ยนแปลงไป
เพราะผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ชี้ขาดในเกม ยังต้องฟังความเห็นของไลน์แมน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน รวมถึงกรรมการ VAR ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องจากหน้าจอมอนิเตอร์ประกอบการตัดสินใจเช่นเคย
ไมค์ ไรลี่ย์ อดีตผู้ตัดสินชื่อดังและทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินฯ กล่าวกับสื่ออย่างทอล์ค สปอร์ตว่า “โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องการทำตามแนวทางเพื่อให้นักเตะได้เล่นไปตามปกติ
และปล่อยให้เกมการแข่งขันดำเนินต่อไปได้ พวกเรา (ผู้ตัดสิน) ได้เพิ่มข้อได้เปรียบที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้เล่นในเกมรุก ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เข้าข่ายว่าจะเป็นการล้ำหน้า เราจะทำตามขั้นตอนเดียวกันกับปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันจะมีการปรับใช้เส้นล้ำหน้าที่ออกอากาศให้มีความหนามากยิ่งขึ้น (thicker broadcast lines)”
หากการเข้าทำของผู้เล่นในเกมรุกมีจังหวะที่ทับซ้อนกันเกิดขึ้นในลักษณะเล็กน้อย เหลื่อมว่าจะล้ำหน้า กับการยืนตำแหน่งในแนวรับของผู้เล่นฝั่งตรงข้ามหรือไม่ ผู้ตัดสินจะยกประโยชน์ให้ผู้เล่นในแนวรุก
ซึ่งแตกต่างจากในฤดูกาลที่แล้วที่มีการตีเส้นล้ำหน้าแบบเรียลไทม์ แถมเส้นกราฟิกล้ำหน้ามีขนาดเล็ก ส่งผลให้บางจังหวะตัดสินแค่ปลายเท้า ปลายไหล่ หากจังหวะการวิ่งของผู้เล่นในแนวรุกเกินไลน์แนวรับฝั่งตรงข้ามเพียงแค่นิดเดียวก็ถือว่าล้ำหน้าได้แล้ว สร้างความปวดขมับให้กับแฟนบอลและผู้เล่นเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ในฤดูกาลนี้ หากเกิดจังหวะปัญหาล้ำหน้าจริง ๆ การตีเส้นล้ำหน้าจะถูกนำมาแสดงผลการตัดสิน
ปรากฎให้เห็นหลังจากที่ผ่านจังหวะนั้นไปแล้ว โดยใช้เส้นล้ำหน้าที่มีความหนามากขึ้น (thicker lines) เกมการแข่งขันจึงไม่สะดุดหยุดลง ดังนั้น เมื่อผ่านนัดแรก เราจึงไม่ค่อยเห็นดราม่าจากแฟนบอลเรื่องการตีเส้นล้ำหน้านั่นเอง
กฎการแฮนด์บอล (Handball)
กรณีนักเตะทำแฮนด์บอลแบบไม่ได้ตั้งใจในจังหวะเกมรุก ในฤดูกาล 2020/2021 ที่ผ่านมานั้นมีแค่เพียง 5 ประตูที่ถูกตัดออก เพราะทำฟาว์ลแฮนด์บอลตามกรณีข้างต้น ส่วนในฤดูกาลนี้หากจังหวะเข้าทำในเกมรุก ลูกฟุตบอลสัมผัสโดนมือหรือแขนของผู้เล่นโดยไม่ได้ตั้งใจ และบอลถูกส่งต่อไปยังผู้เล่นอีกคนทำประตูได้ จะถูกนับว่าเป็นประตู แต่การเจตนาทำแฮนด์บอลยังคงฟาวล์และไม่นับว่าเป็นประตู
อย่างไรก็ดี กรณีการทำฟาวล์ของผู้เล่นเกมรับในกรอบเขตโทษ เมื่อผู้เล่นเกมรับพยายามทำให้ร่างกายใหญ่โตขึ้นมากกว่าปกติ หรือชูแขนของตนเองสูงเกินกว่าช่วงไหล่โดยไม่มีสาเหตุ จะถูกตัดสินให้เป็นจุดโทษทันที
การใส่รายชื่อผู้เล่นสำรอง (Substitutions)
พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ได้มีการประกาศว่า ในฤดูกาลนี้ผู้จัดการทีมสามารถใส่รายชื่อนักเตะสำรองในการแข่งขันได้มากถึง 9 คน (จากเดิมใส่รายชื่อนักเตะสำรองได้ 7 คน) รวมถึงสามารถใส่รายชื่อผู้เล่นทั้งหมดในวันที่มีการแข่งขันได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 18 คน เป็น 20 คน แนวทางนี้จะช่วยให้ผู้จัดการทีมมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการจัดสรรนักเตะ และบริหารจัดการทีมได้อย่างยืดหยุ่น
ผู้เขียน
TOPPING
The POP LOVER PODCAST