เปิดที่มา ข้อหา “ขายชาติ” ไอเดียขายที่ ให้เศรษฐีเมืองนอก

1) ต้องบอกว่าข้อเสนอดึงดูดเศรษฐีทางชาติมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว ขณะเดียวกัน ต่างประเทศก็มีรูปแบบดึงดูดคนรวยต่างถิ่น เข้ามาอยู่ในประเทศตนเองเพื่อเสริมเศรษฐกิจ ด้วยกลวิธีที่แตกต่างกันออกไป

2) ส.ค.2563 สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รับตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน และให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นไม่นานว่า มีแนวคิดที่จะให้ต่างชาติคนเกษียณอายุเข้ามาท่องเที่ยว หรือ อยู่ในไทยระยะยาว เพราะจากข้อมูลพบว่า ผู้เกษียณอายุต่างชาติมีรายได้มากกว่าหลายแสนบาทต่อราย ซึ่งหากเข้ามาเที่ยวไทย 1 ล้านคน จะเพิ่มรายได้ให้การท่องเที่ยวหลายพันล้านบาท ไม่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนแบบเดิม ที่แม้จะมีรายได้ถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี แต่มีความเสี่ยงในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

3) วันที่ 5 ก.ย. 2563 สำนักข่าว CNN รายงานว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนไทย ต้องการให้รัฐบาลเชิญชวนคนต่างชาติที่มีศักพภาพสูงเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขต้องลงทุนในประเทศไทยอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และเปิดโอกาสให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ โดยให้ถือครองได้อย่างน้อย 50 ปี นั่นจะทำให้คนต่างชาติที่กระเป๋าหนักเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานอีกกว่า 1 ล้านตำแหน่ง

4) วันที่ 31 มี.ค.2564 สุพัฒนพงษ์ เริ่มแง้มถึงความพยายามดึงต่างชาติที่มีศักยภาพสูงมาไทย เขากล่าวกับนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า มีกฎระเบียบเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องปรับแก้ ซึ่งจะไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิประโยชน์จาก BOI อย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตัวนักลงทุนให้เดินทางเข้ามา และใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นอุปสรรคกับการลงทุน

5) สุพัฒนพงษ์ ได้ตั้งให้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษาของเขา เป็นหัวหน้าปฏิบัติการเชิงรุกชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ โดยต้นเดือน มิ.ย.2564 มีรายงานว่า ทีมนี้พยายามนัดหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทั้งเรื่องข้อกำหนดการจัดทำวีซ่าระยะยาว การตรวจคนเข้าเมือง การออกใบอนุญาตทำงาน รวมถึงประเด็นการให้สิทธิให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว หรือถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและอสังหาฯ

6) วันที่ 29 ก.ค.2564 นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สนับสนุนมาตรการขยายเพดานการถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุด รวมถึงบ้านแนวราบของชาวต่างชาติ โดยการถือครองอาคารชุดของชาวต่างชาติกฎหมายเดิม จะถือครองได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมด ขณะร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ แก้ไขอัตราการถือกรรมสิทธิ์ให้ชาวต่างชาติเข้าถือครองได้มากขึ้นอาจถึง 70-80%

ส่วนขณะการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ตามกฎหมายเดิมห้ามมิให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านหรือที่ดินในประเทศไทย แต่สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ กำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านเดี่ยวสำหรับอยู่อาศัยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรราคาประมาณ 10-15 ล้านบาทขึ้นไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 49% ของโครงการ

ส่วนระยะเวลาการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติตามกฎหมายเดิม อนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์นานสูงสุดไม่เกิน 30 ปี ขณะร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ ได้ขยายให้ชาวต่างชาติสามารถทำสัญญาเช่าได้สูงสุด 50 ปี +40 ปี

7) วันที่ 22 ก.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากโควิด-19 หรือ ศบศ. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงฯ ซึ่งจะมีการปรับข้อจำกัดต่าง ๆ และอำนวยความสะดวก เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

8) วันที่ 14 ก.ย.2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) โดย มี 2 มาตรการเพื่อดึงดูด หนึ่งในนั้นคือ การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน ฯลฯ

9)มติดังกล่าวเกิดเสียงวิจารณ์มากมาย บ้างบอกว่า นี่เป็นการขายชาติ โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เป็นคนแรกๆที่ออกมาตั้งข้อสังเกตุ เขาบอกว่า “นี่กำลังขายชาติกันอยู่หรือเปล่า” พร้อมบอกว่า รัฐบาลฟังแต่เสียงของกลุ่มนายทุนข้ามชาติ โดยฟังเสียงส่วนน้อยในวงการอสังหาริมทรัพย์

10)วันที่ 20 ก.ย.2564 ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ในส่วนการเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ยังคงยึดหลักการตามมาตรการที่มีอยู่เดิม ไม่ได้เป็นไปตามที่บางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อมูลมาโจมตีรัฐบาล จึงอยากวิงวอนทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้าง ศึกษามาตรการอย่างลึกซึ้ง พิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต”

11)อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรัฐมนตรีคนใดออกมาปฏิเสธว่าจะไม่มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในประเทศไทย

ดังนั้น จึงต้องติดตามกันต่อไป

อ้างอิง :

https://mgronline.com/business/detail/9630000091099

https://www.dailynews.co.th/economic/834368/

https://www.efinancethai.com/Laste…/LatestNewsMain.aspx…

https://www.reic.or.th/News/RealEstate/454133