ระวังเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว: จาก ท่าน”วรวิทย์” ถึง ลุง“ประยุทธ์”

ระวังเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว: จาก ท่าน”วรวิทย์” ถึง ลุง“ประยุทธ์”

เป็นที่น่าจับตามองของสังคมในเวลานี้หลังเกิดความเห็นหลายขั้วต่อวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ ชนิดควันไม่ทันหาย ก็เกิดเหตุกรณีเดียวกันต่อความเห็น 2 ขั้ว ในการนับอายุการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ “วรวิทย์ กังกศิเทียม” โดยสืบเนื่องมาจากกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน จะมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ (เกิด 1 มี.ค.2495) ซึ่งแน่นอนว่า ไม่กรณีใดก็กรณีหนึ่งจะเป็นบรรทัดฐานต่อการตัดสินต่อไปในอนาคต

.

เหตุดังกล่าวนำมาสู่การถกเถียงเป็นวงกว้าง ว่าจะยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือรัฐธรรมนูญปี 2560 หลังจากที่นายวรวิทย์ กังกศิเทียม เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยอำนาจจากมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ตามรธน.ชั่วคราว 2557 ที่ให้ใช้อำนาจการแต่งตั้งจากรธน. 2550

.

โดย “วรวิทย์ กังศศิเทียม” ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 นับเวลาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า 7 ปี 6 เดือน ซึ่งหากยึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 วรวิทย์ จะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี หรือเมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเรื่องใดเกิดขึ้นก่อนหลัง (มาตรา 208 และมาตรา 209)

.

แต่หากยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีวาระในดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีได้ไม่เกิน 7 ปี หรือต้องอายุไม่เกิน 70 ปี แต่สามารถขยายอายุไม่ให้เกิน 75 ได้ ตามมาตรา 207 และ 208 โดยในเอกสารคำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรธน. 2560 ให้เหตุผลถึงการลดวาระลงเพียง 7 ปีว่า

.

“ระยะเวลา 7 ปี น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็มีเวลาเพียงพอที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กร เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเปลี่ยนแปลงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อันจะนำความคิดและทัศนคติใหม่เข้ามาในการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับพลวัตของสังคม”

.

กรณีนี้ความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว โดยขั้วแรกเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 มาผสมกัน โดยเห็นว่า “วรวิทย์” สามารถดำรงตำแหน่งตามวาระครบ 9 ปี ตามรธน. 2550 และก็ขยายอายุจากไม่เกิน 70 เป็นไม่เกิน 75 ปี ตามที่รธน. 2560 กำหนดไว้ ซึ่งขั้วความคิดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการเอื้อต่อการดำรงตำแหน่งต่อ

ขั้วที่สอง เห็นว่า “วรวิทย์” ได้ประโยชน์จากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นหลักที่กำหนดให้มีอายุไม่เกิน 70 ปี เมื่อครบแล้วก็จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญเดิมที่ให้อำนาจเข้ามา

อย่างไรก็ตามหากยึดรธน.60 วรวิทย์ก็จะติดกับดักอีกเช่นกันแต่เป็นเรื่องของวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งแม้จะขยายอายุได้เป็น 75 ปี แต่ก็มาติดกับดักวาระ 7 ปีที่รธน.60 กำหนดไว้

และเมื่อมาดูบทเฉพาะกาลมาตรา 79 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 จะพบว่ามีการกำหนดให้ประธานศาลรธน. และตุลาการศาลรธน. ซึ่งยังไม่ครบวาระตามรธน. 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายที่ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรธน. 2550 หรือ พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 18 ซึ่งมาตรา 18(4) กำหนดให้พ้นจากตำแหน่งตามวาระเมื่อมีอายุครบ 75 ปี

ทั้งสองความคิดเห็นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามในการตีความเรื่องตัวเองเช่นนี้นำไปสู่ดาบสองคมและจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน โดยข้อสรุปที่ได้หลังจากวันนี้เห็นแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา โดยผ่านสำนักเลขาธิการศาลฯ และส่งต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยต่อไป ตามมาตรา 204 วรรคสี่ แห่งรธน. ปัจจุบัน

ทางเขาควายเช่นนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมแสดงถึงบรรทัดฐานทางกระบวนการยุติธรรมในอนาคต และหนึ่งในบุคคลที่ต้องจับตามองอีกคนหนึ่งในกรณีความกังขาของการดำรงตำแหน่งโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ วาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีว่าจะนับตั้งแต่ รธน.60 ประกาศใช้หรือนับตั้งแต่ ครม.ที่มีอยู่ก่อนหน้าประกาศใช้ ทั้งหมดทั้งมวลของกรณีดังกล่าวแน่นอนว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานในกรณีต่อไปที่จะถึงนี้ โบราณว่าไว้ “ระวังเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

ที่มา

– กรุงเทพธุรกิจ,เก้าอี้ร้อน “ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ” “วาระ”ลักลั่นใน รธน. 2 ฉบับ, https://www.bangkokbiznews.com/politics/989843

– ฐานเศรษฐกิจ, “ศาลรธน.แตก 4 ตุลาการส่งชี้ขาด วรวิทย์ กังศศิเทียม อายุ 70 ปี พ้นประธานหรือไม่”, https://www.thansettakij.com/politics/517631

– สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “คำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560”,https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=1042&filename=index

– WorkpointToday, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน?, https://workpointtoday.com/ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมา/