ฤๅชะตา ฟ้าลิขิต: ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อ 4 กรณีร้องศาล รธน.
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งในปี 62 มีคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 4 กรณี โดยหนึ่งในกรณีกำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้คือวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกฯ และ อีก 3 กรณีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง 1 กรณี และวินิจฉัยว่าไม่ผิดอีก 2 กรณี ภายใต้อวัจภาษาที่แสดง ที่ปฏิเสธการตอบในทุกครั้ง และครั้งนี้ก็เป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกัน
กรณีแรก เข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่
กรณีการขอให้ศาล รธน. วินิจฉัยคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่ขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่ โดยคำร้องกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้เพราะหัวหน้า คสช. ถือเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” โดยอ้างถึงรธน.มาตรา 160 (6) ที่ระบุว่ารัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งในมาตรา 98 (15) เขียนว่า ต้องไม่เป็น “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”
ต่อมา ศาลวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานใด และ มีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และทำให้พลเอกประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามคำร้องดังกล่าว
กรณีสอง ถวายสัตย์ไม่ครบ
ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อ 16 กรกฎาคม 2562 ไม่ครบถ้วน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่
ต่อมาศาล รธน. พิจารณาวินิจฉัยโดยไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา” เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1)
กรณีที่สาม คดีบ้านพักหลวง
ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
และจบลงด้วย มติเอกฉันท์ของศาล รธน. ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ เพื่อ “สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม”
และกรณีล่าสุด วาระนายกฯ 8 ปี
ในวันที่ 22 ส.ค. 65 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงนามคำร้องของฝ่ายค้านที่ขอให้ส่งศาล รธน.วินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นการดำรงตำแหน่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี แล้วหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ
1. วาระของพล.อ.ประยุทธ์นับแต่ 24 ส.ค. 57 และจะครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 65
2. นับจากวันประกาศใช้รธน. 60 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 5 เม.ย. 68 (รวมดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 57 มาแล้ว 11 ปี)
3. นับจาก 9 มิ.ย. 62 หลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 8 มิ.ย. 70 (รวมดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 57 มาแล้ว 13 ปี)
ที่มา :
– บีบีซีไทย ออนไลน์, ถวายสัตย์ : “ร. 10 พระราชทานพระราชดำรัสวันถวายสัตย์ พร้อมลายพระราชหัตถ์ แก่ ครม. ประยุทธ์ 2”,https://www.bbc.com/thai/thailand-49472471
– บีบีซีไทย ออนไลน์, “24 ชม. สุดท้ายก่อนครบ 8 ปีประยุทธ์”, https://www.bbc.com/thai/articles/crg7y0ljgzno
– ไทยโพสต์, “ศาลรธน.มติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องปม’บิ๊กตู่’ถวายสัตย์ไม่ครบ!”,https://www.thaipost.net/main/detail/45535
– ผู้จัดการออนไลน์, “3 แนวทางกับวาระ 8 ปีของ ‘ลุงตู่’”,https://mgronline.com/infographic/detail/9650000077296