เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลอินเดียตัดสินใจถอนกฎหมายการเกษตรที่ผ่านรัฐสภาไปเมื่อช่วงเดือนกันยายนปี 2563 ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบการเกษตรของประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รัฐปัญจาบ อุตตรประเทศ หรยาณา ราชาสถาน เป็นต้น
หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนปี 2563 รัฐสภาของอินเดียได้ผ่านกฎหมายการเกษตรที่มีความสำคัญอย่างมากจำนวน 3 ฉบับ ประกอบไปด้วย 1. กฎหมายการค้าและการพาณิชย์ (ส่งเสริมและอำนวยความสะดวก) ของเกษตรกร 2. กฎหมายข้อตกลงเกษตรกร (การเสริมอำนาจและคุ้มครอง) ว่าด้วยประกันราคาและบริการฟาร์ม และ 3. การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสินค้าจำเป็น
สำหรับกฎหมายฉบับแรกนั้น รัฐบาลอินเดียในเวลานั้นให้เหตุผลสำคัญของการออกกฎหมายว่าเพื่อเปิดโอกาสให้การค้าสินค้าการเกษตรสามารถทำได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอนุญาตให้เกิดการซื้อ-ขายผ่านระบบออนไลน์ และป้องกันไม่ให้ระดับรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงตลาดผ่านเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม กล่าวคือกฎหมายฉบับนี้จะเปิดให้เกิดการค้าสินค้าการเกษตรข้ามพรมแดนระหว่างรัฐได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับกฎหมายฉบับที่สองนั้น เหตุผลสำคัญคือการออกกฎหมายขึ้นเพื่อเปิดทางให้เกิดการทำเกษตรแบบพันธสัญญาขึ้นโดยเกษตรกรและผู้ซื้อสามารถตกลงทำสัญญาซื้อ-ขายสินค้าการเกษตรล่วงหน้าระหว่างกันได้ ที่สำคัญคือมีการออกแบบกลไกระงับข้อพิพาทในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว โดยแบ่งเป็น ระดับสำคัญคือ 1. คณะกรรมการประนีประนอม 2. ผู้พิพากส่วนย่อย และ 3.อำนาจด้านการอุทธรณ์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรพันธสัญญาได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นระบบมากขึ้น
สำหรับกฎหมายฉบับสุดท้ายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนหน้านี้ที่หลายรัฐของอินเดียเผชิญกับการปรับตัวของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น อันเป็นเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกักตุนสินค้า การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลกลางในการแทรกแซงกลไกราคาสินค้าในกรณีสถานการณ์ไม่ปกติได้ ที่สำคัญคือการกำหนดขีดจำกัดของการกักเก็บสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามแนวโน้มของราคาด้วย เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าเพื่อปั่นราคา
เมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่รัฐบาลอินเดียให้กับรัฐสภาสำหรับการออกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับอาจมองได้ว่ามันก็มีข้อดีอยู่ในหลายมิติ แต่นั้นก็เป็นเพียงมุมมองเชิงบวกเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับการเข้ามาของระบบการเกษตรของทุนผูกขาดได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะส่งผลเสียอย่างมากต่อเกษตรกร ที่สำคัญกฎหมายนี้ยังทำลายวิถีการค้าสินค้าเกษตรดั่งเดิมในหลายรัฐที่มีระบบสมาคมการค้า หรือสหกรณ์การค้าด้วย
ที่ปัญหาสำคัญของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือการขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะสหภาพเกษตรกร ไม่ได้มีส่วนในการนำเสนอข้อกังวลของตนเอง หรือเข้าไปมีส่วนในการกระบวนการร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับเลย ทั้งที่พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมาย
ลักษณะเช่นนี้นำมาซึ่งการประท้วงของเกษตรกรทั่วประเทศอินเดียนับตั้งแต่กฎหมายทั้ง 3 ฉบับผ่านรัฐสภาในเดือนกันยายน 2563 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงก่อนวันสาธารณรัฐ 26 มกราคม 2564 เกษตรกรจากหลากหลายพื้นที่เดินขบวนมายังกรุงนิวเดลี และสามารถยึดป้อมแดงได้สำเร็จ
การประท้วงของบรรดาเกษตรกรได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งภายในและภายนอกอินเดีย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดคดีอื้อฉาวที่สร้างผลลบอย่างมากต่อพรรครัฐบาลเมื่อมีการประท้วงของชาวนาในรัฐอุตตรประเทศ และปรากฏรถของลูกชายแกนนำพรรคบีเจพีขับฝ่ากลุ่มผู้ประท้วงไปจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพชาวนาอย่างมาก และเริ่มมีการเคลื่อนขบวนกดดันรัฐบาลอีกครั้ง นอกจากนี้มันยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และคะแนนนิยมของพรรครัฐบาลอย่างมากด้วย เมื่อสองปัจจัยนี้ไหลมารวมกันย่อมส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะในปี 2565 ที่จะถึงนี้อินเดียจะมีการเลือกตั้งในระดับรัฐที่มีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะชี้ชะตาการเลือกตั้งระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐปัญจาบ อุตตรประเทศ หรือคุชราต
ฉะนั้นการตัดสินใจยกเลิกกฎหมายการเกษตรของรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้หากมองในมุมหนึ่งถือเป็นชัยชนะของการรวมพลังของบรรดาเกษตรกรที่ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอินเดีย และยังสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของเสียงการลงคะแนนสามารถกดดันรัฐบาลได้ นี่จึงเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตยที่เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยได้รับการตอบสนองนั่นเอง