เมื่อฝนจะตก แดดจะออก พระจะสึก หญิงจะคลอด เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ฉันใด ในทางการเมือง นายกจะยุบสภาฯ ก็ห้ามกันไม่ได้ฉันนั้น เหตุที่กล่าวเช่นนั้นคงไม่ผิดแผกจากประโยคต้นเท่าใดนักเพราะอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นหนึ่งในกลไกทางกฎหมายของฝ่ายบริหารในการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย และประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ตามมาตรา 103 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีหลักว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ซึ่งกระทำโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และนายกรัฐมนตรีจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อองค์พระมหากษัตริย์และนำร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป
บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านเข้าไปสำรวจความเป็นมารวมถึงสะท้อนมุมมองบางประการต่อการใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีตลอดช่วงระยะเวลา 89 ปีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้ง 13 ครั้ง และแต่ละครั้งกลไกทางกฎหมายถูกใช้ประกอบและสะท้อนถึงวัตถุประสงค์ในทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็เพื่อหาทางออกทางการเมือง บ้างก็เพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมืองเดิม และบ้างก็เพื่อหลบหนีประเด็นทางการเมือง
การยุบสภาผู้แทนราษฎรอันด้วยเหตุมาจากความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 8 ครั้ง ประกอบด้วย
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 1 (11 กันยายน พ.ศ. 2481) สมัยรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา อันเกิดมาจากกรณีรัฐบาลแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นที่ นายถวิล อุดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เสนอญัตติให้มีการแก้ไขข้อบังคับการประชุม และการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๖๘ เพื่อขอให้รัฐบาลจัดทำรายละเอียดของงบประมาณประจำปีในการนำเสนอต่อรัฐสภา
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 2 (15 ตุลาคม พ.ศ. 2488) สมัยรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อันเกิดมาจากการออกพระราชบัญญัติขยายอายุสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรถึง 2 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการอันจำเป็นเนื่องจากสภาพบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามและมิอาจจัดให้มีการเลือกตั้งโดยปกติเรียบร้อยได้ ต่อมาได้มีการเสนอพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม แม้จะมีมติเห็นชอบในหลักการและประกาศใช้เป็นกฎหมายในลำดับถัดมาแต่ก็มีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงในสภาผู้แทนราษฎรทำให้รัฐบาลต้องตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ และแถลงการณ์บางส่วนให้เหตุว่า “สมาชิกสภาฯ ส่วนมากเหินห่างจากเจตนารมณ์และความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร”
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 3 (12 มกราคม พ.ศ.2519) สมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อันมีเหตุมาจากการเป็นรัฐบาลผสม “สหพรรค” ซึ่งประสบปัญหาจากการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง และนายกรัฐมนตรีได้แถลงเหตุอันนำไปสู่การยุบสภาฯ ในครั้งนั้น ว่า “…การเป็นรัฐบาลที่ไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากในสภานั้นเป็นเหตุให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้แทนราษฎรที่ไม่มีอุดมการณ์กดดันรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน จึงจำเป็นต้องยุบสภา…”
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 4 (19 มีนาคม พ.ศ.2526) สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อันเกิดมาจากกรณีปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและขยายบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เพื่อคงอำนาจให้วุฒิสภาในการถอดถอนรัฐบาล ให้สิทธิข้าราชการในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความขัดแย้งกับสมาชิกวุฒิสภา (สายทหาร) เป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงอาศัยเหตุดังกล่าวเพื่อยุบสภาฯ
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 5 (1 พฤษภาคม พ.ศ.2529) สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีคำปรารภถึงเหตุผลในการยุบสภาฯ ในครั้งนั้นว่า “…สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งนี้เพราะไม่ได้คำนึงถึงการตราพระราชกำหนดแต่เนื่องมาจากการแตกแยกของพรรคการเมืองบางพรรค…” ซึ่งมูลเหตุอันแท้จริงนั้น มาจากการเสียดุลอำนาจทางการเมืองและทางทหาร กล่าวคือ มาจากความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายหนึ่ง และการไม่ต่ออายุราชการของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อีกฝ่ายหนึ่ง
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 6 (29 เมษายน พ.ศ.2531) สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อันมีเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาเกิดกลุ่ม 10 มกรา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการงดออกเสียงในการเสนอร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ และต่อมารัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและจบลงด้วยการนำไปสู่เงื่อนไขในการยุบสภาในเวลาต่อมา
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 8 (19 พฤษภาคม พ.ศ.2538) สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย อันมีเหตุมาจากการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจประกอบกับความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคพลังธรรม) ซึ่งมีมติให้งดออกเสียงและให้รัฐมนตรีของพรรคลาออกต่อกรณีการเปิดโปงการทุจริตในที่ดินปฏิรูปการเกษตรกรรม (สปก.) ซึ่งพรรคเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจน และเป็นเหตุให้นำไปสู่การยุบสภาก่อนวันลงมติเพียง 1 วัน
การยุบสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (27 กันยายน พ.ศ.2539) สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา อันมีเหตุมาจากปัญหาความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นเดียวกัน กล่าวคือ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย พรรคมวลชน เสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกมิเช่นนั้นจะขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลและไม่ลงมติสนับสนุนในญัตติดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่าจะลาออกภายใน 7 วัน แต่สุดท้ายเหตุการณ์กลับตาลปัตร แทนที่นายกรัฐมนตรีจะลาออกกลับยุบสภาเพื่อช่วงชิงจังหวะทางการเมืองแทน
การยุบสภาสภาผู้แทนราษฎรโดยอาศัยมูลเหตุการเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมือง มีจำนวน 2 ครั้ง ประกอบด้วย
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 7 (29 มิถุนายน พ.ศ.2535) สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน โดยอาศัยเหตุแห่งการเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมืองหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และให้คำมั่นต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อระยะเวลาในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาและคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งหลังจากหมดหน้าที่
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 10 (9 พฤศจิกายน พ.ศ.2543) สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยอาศัยเหตุแห่งการเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ กรณีวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 2540 พร้อมด้วยคำมั่นของนายกรัฐมนตรีที่ให้ไว้ก่อนเข้ารับดำรงตำแหน่งว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาและไม่ขออยู่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้เหตุดังคำปรารภซึ่งรัฐบาลให้ไว้นั้นก็อาจเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งแต่เหตุหลักซึ่งซ่อนอยู่ในขณะนั้นคือ ความต้องการยุบสภาในโอกาสที่รัฐบาลเชื่อว่าตนยังคงความได้เปรียบทางการเมืองและภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่สามารถชูเป็นประเด็นในการหาเสียงครั้งต่อไปได้
การยุบสภาสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหตุวิกฤตการณ์ทางการเมือง มีจำนวน 3 ครั้ง ประกอบด้วย
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 11 (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549) สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) อันมาจากปัญหาความขัดแย้งของประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งแทนตัวเองว่า “คนเสื้อเหลือง” ได้เปิดประเด็นการทุจริตและการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของรัฐบาลและกระแสดังกล่าวได้กระจายความไม่พอใจของประชาชนเป็นวงกว้าง และรัฐบาลไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวจึงนำไปสู่การคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการยุบสภาเพื่อแก้ไขปัญหาและช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองอีกครั้งหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้จำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 376 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พรรคคู่แข่งได้เพียง 96 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 12 (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554) สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันมาจากปัญหาความขัดแย้งของประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งแทนตัวเองว่า “คนเสื้อแดง” ซึ่งไม่พอใจการได้มาซึ่งรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองต่อเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งประกอบกับการใช้อำนาจในการสลายชุมนุมอันเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง และรัฐบาลได้หาทางออกดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจในการยุบสภาฯ ในลำดับถัดมา
การยุบสภาฯ ครั้งที่ 13 (9 ธันวาคม พ.ศ. 2556) สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกแยกในหมู่ประชาชนต่อกรณีปัญหาการชุมนุมของกลุ่มซึ่งแทนตัวเองว่า “กปปส.” ที่เรียกร้องให้มีการถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและจัดให้มีการปฏิรูปการเมือง และรัฐบาลได้หาทางออกด้วยวิธีการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชนโดยมุ่งหวังให้กลไกในระบอบแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
โดยเหตุแห่งการยุบสภาในบางครั้ง คำปรารภในพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ก็มิอาจบ่งชัดถึงปัญหาได้อย่างถ้วนทั่วหากแต่การอิงบริบททางการเมืองประกอบจะเป็นหนทางอันดียิ่งในการศึกษา บ่อยครั้งเหตุแห่งปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยการยุบสภาฯ แต่บางครั้งการยุบสภาฯ กลับกลายเป็นช่องว่างให้ผู้มีอำนาจนอกระบบแทรกแซงจนเป็นอุปสรรคปัญหาตามมา อย่างไรก็ตาม กระแสการยุบสภาฯ ถือเป็นเสียงหนึ่งที่สะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาลว่า “ควรไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาเหตุแห่งการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีก็มีไม่มากนัก ไม่ทำเพื่อการหาทางออกของประเทศ ก็เพื่อหวังช่วงชิงความได้เปรียบของตน และแน่นอนอย่างหลังน่าจะเป็นที่อภิรมย์ของผู้เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า หากแต่สถานการณ์ไม่เลือกข้าง ถึงเวลาการตัดสินใจในบางครั้งนายกรัฐมนตรีก็อาจจำต้องยุบสภาฯ ก่อนปัญหาอื่นจะตามมาในอนาคต
อ้างอิง
กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง.(2530). “การยุบสภาในประเทศไทย”, (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะนิติศาสตร์
“แถลงการณ์ของรัฐบาล ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2488”. (2488, 15 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 62, ตอน 60 ก. หน้า 604–605.
“พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2519”. (2519, 12 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 93, ตอน 6 ก, ฉบับพิเศษ. หน้า 1–3.
“พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529”. (2529, 2 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 103, ตอน 73 ก, ฉบับพิเศษ. หน้า 1–2.