ว่าด้วยเรื่องการยิงจุดโทษชี้ชะตา

ในการแข่งขันฟุตบอล การทำประตูเพื่อคว้าชัยชนะให้ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าทีมที่เราเชียร์จะต่อบอลอย่างสวยงาม มีเกมรุกบุกโหมกระหน่ำอย่างไหลลื่นสักแค่ไหน หากไม่สามารถทำประตูคู่แข่งได้มันก็เท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อทีมได้จังหวะทำประตูจากจุดโทษ และต้องการประตูสำคัญเพื่อตัดสินผลแพ้ชนะ หรือการแบ่งแต้ม มันจึงเป็นการวัดความนิ่ง จิตใจที่เยือกเย็นของนักเตะ และความสามารถของผู้จัดการทีม เพียงแค่ประตูเดียวก็สร้างความแตกต่างได้

ทุกทีมมักจะมีผู้เล่นที่เป็นมือฉมัง มีคุณสมบัติ และความสามารถในการสังหารจุดโทษอย่างเด็ดขาดอยู่ในทีม การจัดวางผู้เล่นเหล่านี้ไว้ในลำดับแรกของลิสต์รายชื่อกระบี่มือหนึ่งนั้น คงไม่ต้องอธิบายให้มากความก็เข้าใจได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้จัดการทีมไม่ควรทำ และ “อย่าหาทำ” คือ การเปลี่ยนผู้เล่นที่ยังไม่ได้สัมผัสบอลแม้แต่ครั้งเดียว ลงมาในสนามแล้วรับหน้าที่สังหารจุดโทษ เพราะมันคือหายนะไปแล้วครึ่งหนึ่ง จึงมีโอกาสผิดพลาดได้สูงมาก

ท่านผู้อ่านลองพิจารณาเหตุผลที่ NewsXtra หยิบยกมาฝากไว้ให้ขบคิด 2 ประเด็น ดังนี้

1. ควรให้ผู้เล่นตัวจริงในสนามเป็นคนยิงจุดโทษตัดสินชี้ชะตา

การยิงจุดโทษมีขั้นตอนไม่ซับซ้อนแค่ไม่กี่อย่าง หยิบลูกฟุตบอลไปวางตั้งตามจุดที่กำหนดในกรอบ 12 หลา ก้าวถอยหลังออกมาประมาณสองสามก้าวแล้วตั้งสมาธิ หายใจ ก่อนจะก้าวออกไปยิงจุดโทษ อ่านดูแล้วเหมือนง่ายมาก แต่พออยู่ในสถานการณ์จริงกลับเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับนักเตะบางคน หากไม่มีประสบการณ์มากพอหรือได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

กองหน้าทีมชาติอังกฤษที่มีอัตราการยิงจุดโทษเข้าเป้ามากที่สุด จำนวน 44 ลูก จากจุดโทษ 51 ครั้งในอาชีพการค้าแข้งอย่าง แฮร์รี่ เคน เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไทม์ของอังกฤษว่า “การวิ่งของผมทำเหมือนเดิมทุกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันผู้รักษาประตูจะทราบได้ว่าผู้เล่นบางคนมีท่าทางการวิ่งที่แตกต่าง เมื่อต้องการยิงจุดโทษด้วยเท้าขวา เปรียบเทียบกับการวิ่งเพื่อมายิงด้วยเท้าซ้าย ดังนั้น ผมจึงวิ่งเข้าไปยิงจุดโทษให้เหมือนเดิมทุกครั้ง หากพวกเขา (ผู้รักษาประตู) สามารถเดาทิศทางได้ถูกต้อง ผมจะยิงบอลให้แรงมากขึ้น และหวังว่ามันจะเร็วมากพอที่พวกเขาจะไม่ได้สามารถป้องกันได้ทัน ผมมีความรู้สึกว่า ผมเป็นผู้ควบคุมลูกฟุตบอลเพียงคนเดียว ผมสามารถยิงบอลไปทางซ้าย ทางขวา ตรงกลางก็ได้ เมื่อผมยิงจุดโทษผมก็ทำแบบเดิมทุกครั้ง ผู้รักษาประตูจึงหยุดศึกษาวิธีการยิงจุดโทษของผม เพราะมันไม่มีประโยชน์ที่จะทำแบบนั้น”

ยิ่งเป็นนักเตะที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี โอกาสการยิงจุดโทษสำเร็จก็มีสูงมากขึ้น เพราะความมั่นใจและประสบการณ์ในเกมฟุตบอลจังหวะจุดโทษมีผลต่อคะแนน ผลแพ้ชนะ การเลือกผู้เล่นที่ออกไปยิงจุดโทษจึงสำคัญตามปกติ ทีมฟุตบอลจะมีการจัดลำดับผู้เล่นที่ทำหน้าที่สังหารจุดโทษไว้อยู่ 3-5 คน ตามลำดับความชำนาญขึ้นอยู่กับว่านักเตะคนใดเป็นผู้เล่นตัวจริงในสนาม นักเตะที่ลงเล่นจะมีอารมณ์ร่วมกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นรวมถึงความอยากเอาชนะสูง ถึงแม้ว่าไปยิงจุดโทษแล้วผิดพลาด ความกดดันไม่ได้มีสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ผู้เล่นสำรองมาลงยิงจุดโทษ อย่าลืมว่าการดวลจุดโทษก็เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งเช่นกัน เพราะมีโอกาส 50/50 ที่จะยิงจุดโทษเข้าและไม่เข้า นอกจากจะต้องแบกรับความคาดหวังของแฟนบอล เพื่อนร่วมทีม ความกดดันของตนเองแล้ว ต้องต่อสู้กับผู้รักษาประตูฝั่งตรงข้าม การได้ลงมาสัมผัสเกมตั้งแต่เริ่มต้น หรือมีเวลามากพอให้ได้ปรับอารมณ์ตามทันกับเกมการแข่งขันจึงมีผลกับการยิงจุดโทษ

2. ความกดดันทั้งหมดจะตกไปอยู่กับผู้เล่นสำรองเพียงคนเดียวที่ถูกส่งลงมายิงจุดโทษ

นักเตะที่ไม่ได้สัมผัสลูกฟุตบอลเลยแม้แต่ครั้งเดียว และนั่งมองเกมจากข้างสนาม ก่อนจะถูกส่งลงมา เพื่อยิงจุดโทษ เกิดขึ้นในเกมพรีเมียร์ลีกอังกฤษนัดล่าสุด ระหว่างเวสต์แฮม ยูไนเต็ด กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อเวสต์แฮม ได้จุดโทษจากจังหวะฟาวล์แฮนด์บอลของลุค ชอว์ ในขณะนั้นเวสต์แฮมกำลังตามหลังอยู่1 ประตูต่อ 2 โจทย์เพียงข้อเดียวคือ พวกเขาต้องได้ประตูนี้เท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งแต้มกับแมนฯ ยูไนเต็ด

เดวิด มอยส์ กุนซือหน้าขรึมของเวสต์แฮม ตัดสินใจเปลี่ยนตัวส่งกระบี่มือหนึ่งอย่างมาร์ค โนเบิล กองกลางประสบการณ์สูงของทีมลงมาเพื่อทำการสังหารจุดโทษโดยเฉพาะ ท่ามกลางสายตาแฟนบอลเจ้าบ้านที่กำลังคาดหวังอย่างมาก ผลปรากฏว่า มาร์ค โนเบิล ยิงจุดโทษพลาด โดนดาวิด เด เคอา ป้องกันไว้ได้ จบเกม เวสต์แฮม พ่ายแพ้ให้กับแมนฯ ยูไนเต็ด อย่างสุดดราม่า

จังหวะหลังจากนั้น กล้องได้ตัดภาพสลับระหว่างเด เคอา กับมาร์ค โนเบิล เพราะเด เคอา คือผู้รักษาประตูที่ได้ชื่อว่าเซฟจุดโทษได้น้อยมาก และเขาเซฟจุดโทษได้ครั้งล่าสุดต้องย้อนไปไกลถึงปี 2014 เลยทีเดียว ส่วนมาร์ค โนเบิล ยิงจุดโทษพลาดครั้งล่าสุดก็ต้องย้อนไปไกลถึงปี 2016 เช่นกัน

ดังนั้น การตัดสินใจของเดวิด มอยส์ สะท้อนให้เห็นว่า การส่งผู้เล่นหนึ่งคนที่ยังไม่เคยได้สัมผัสบอลลงมารับหน้าที่ยิงจุดโทษตัดสินผลชี้ขาดเป็นการให้ผู้เล่นแบกรับความกดดันมหาศาลที่ถาโถมเข้าใส่ ถ้าเทียบกับผู้เล่นที่มีส่วนร่วมกับเกมมาตั้งแต่ต้นมันมีความแตกต่างกัน เนื่องจากความกระหาย อารมณ์ร่วมและแรงขับดันเพื่อเอาชนะของผู้เล่นตัวจริงมีมากกว่า มันจึงมีผลกับผู้เล่นสำรองที่ถูกเปลี่ยนตัวลงมาแล้วให้ยิงจุดโทษทันที มากไปกว่านั้น ยังเป็นการโยนความกดดันไปสู่นักเตะมากเกินไป ยกตัวอย่างที่ชัดเจน เหมือนกับกรณีของแกเร็ท เซาท์เกต เปลี่ยนนักเตะสำรองอย่าง เจดอน ซานโซ่ และ มาร์คัส แรชฟอร์ด ลงมาเพื่อยิงจุดโทษตัดสินในศึกฟุตบอลยูโร 2020 ที่ผ่านมานั่นเอง อีกทั้ง เขาจึงไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกเลยจากจังหวะความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว เพราะเป็นช่วงท้ายเกม และมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกตัดสินเป็นแพะรับบาปจากแฟนบอลด้วย

ผู้เขียน

TOPPING

The POP LOVER PODCAST

แหล่งอ้างอิง

1. https://global.espn.com/…/the-psychology-of-the-penalty…

2. https://www.bbc.com/news/newsbeat-57804779

3. https://www.fourfourtwo.com/…/does-bringing-substitutes…