ประวัติศาสตร์ชนชาติทิเบตถือว่ามีมาอย่างยาวนาน ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งชนชาตินี้มีดินแดนแผ่ไปไกลครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเทือกเขาหิมาลัย ไปจนถึงประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน ยังไม่นับรวมว่าวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนาแบบวัชรยานของทิเบตที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปวัฒนธรรมของหลากหลายประเทศในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในประเทศจีน ส่งผลให้ทิเบตถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 1962 ส่งผลให้ชาวทิเบตจำนวนมากต้องเดินทาง รอนแรมข้ามเทือกข้ามหิมาลัยมาอาศัยและลี้ภัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอินเดีย
อินเดียกลายเป็นดินแดนที่มีชาวทิเบตอพยพอยู่เป็นจำนวนมากภายหลังทิเบตตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน ซึ่งรวมถึงองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบตด้วย ซึ่งในอดีตนั้นพระองค์เป็นทั้งประมุขฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร
การลี้ภัยเข้ามาอยู่ในต่างประเทศของชาวทิเบตจำนวนมากนำมาซึ่งการวางแผนจัดการและออกแบบโครงสร้างการบริหารเพื่อช่วยเหลือชาวทิเบตอพยพที่มีจำนวนมาก ทำให้เริ่มมีการตั้งรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการในต่างประเทศเพื่อจัดการเรื่องเหล่านี้ในดินแดนอินเดีย ซึ่งงบประมาณจำนวนมากในช่วงแรกมาจากการรับบริจาคจากต่างประเทศ
แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดของคนทิเบตพลัดถิ่นจำนวนมากคือการกลับคืนสู่มาตุภูมิที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลปักกิ่ง แต่สิ่งที่ต้องการฉายให้เห็นในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการเคลื่อนไหวของชาวทิเบตพลัดถิ่น แต่เป็นพัฒนาการประชาธิปไตยภายในชุมชนชาวทิเบตอพยพ รวมถึงการปฏิรูปการปกครองของทิเบตเอง
โดยการปฏิรูปครั้งสำคัญและถือเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ครั้งสำคัญของชุมชนทิเบตอพยพ คือการแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร แยกเรื่องการเมืองการปกครองออกจากบริหาร ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2011
อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าในอดีตนั้นประมุขสูงสุดทางการปกครองของทิเบตคือองค์ทะไลลามะ ซึ่งจะมีผู้ช่วยในการทำหน้าที่ในการบริหารร่วมด้วย เป็นสภารัฐมนตรี แต่หลังปี 2011 เป็นต้นมา รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นได้แก้ไขร่างกฎหมายใหม่ เนื่องจากองค์ทะไลลามะตัดสินใจไม่รับอำนาจทางการบริหารและปกครองภายในรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น
การตัดสินใจดังกล่าวนำมาซึ่งการจัดตั้งตำแหน่ง Sikyong ขึ้น ซึ่งจะมีบทบาทในการเป็นผู้นำทางการเมืองของชาวทิเบตพลัดถิ่นทั้งมวล ซึ่งผู้นำในตำแหน่งนี้จะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการแยกอำนาจทางศาสนาและการเมืองออกจากกันเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ และเป็นก้าวย่างสำคัญทางด้านประชาธิปไตยของชาวทิเบต
โดยนับถึงปัจจุบันการเลือกตั้ง Sikyong มีมาแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้งคือในปี 2011 2016 และ 2021 โดยผู้นำคนแรกที่มาจากระบบใหม่นี้คือนาย Lobsang Sangay ที่ควบตำแหน่งนี้ถึงสองสมัย ในขณะที่ผู้นำคนปัจจุบันคือนาย Penpa Tsering
สำหรับนโยบายของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นชุดปัจจุบันนั้นคือการมุ่งเน้นเพิ่มสวัสดิการให้กับชาวทิเบตพลัดถิ่นจำนวนมากที่ปัจจุบันตกอยู่ในความยากจน การเดินหน้าพูดคุยกับจีนเพื่อให้คนทิเบตได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ โดยเฉพาะความพยายามอำนวยความสะดวกให้องค์ทะไลลามะได้กลับไปเยือนประเทศจีนอีกครั้ง รวมตลอดจนช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองชาวทิเบตที่ยังติดอยู่ในจีน
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับพันธกิจดังกล่าวของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาลจีนที่ไม่ยอมรับต่อการมีอยู่ของหน่วยงานนี้ ยิ่งไปกว่านั้นองค์ทะไลลามะยังอยู่ในรายชื่อบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของจีนอย่างยิ่งยวดในฐานะหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาชาวทิเบตพลัดถิ่นได้มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะในแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น มีระบบตัวแทนจากการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากระบบศักดินาเดิม ที่ทั้งกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชน
อ้างอิง