จับตา ข้อเสนอ ตั้งกรรมการปรองดองระดับชาติ (อีกแล้ว)

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะมีการพิจารณาวาระเพื่อทราบ ข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้

1. ครม. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงออกที่ชัดเจนถึงการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ควรคำนึงถึงหลักความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทยอย่างเคร่งครัด การบังคับใช้กฎหมายหรือปฏิบัติการใดๆ ควรเป็นไปในแนวทางการเปิดโอกาส ให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยอาจนำหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ ซึ่งจัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ มาเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและอย่างจำกัด

2. ครม. ควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม ระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพ โดยอาจบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลัก แทนการใช้กฎหมายอื่น เช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงควรทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นและการเสนอข่าวที่แตกต่างจากความเห็นทางการเมืองของรัฐบาล

3. ครม. ควร ดำเนินการให้สังคมโดยรวมเชื่อมั่นว่าความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า และจัดให้มีพื้นที่และช่องทางในการรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งจากผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

4. กสม. ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของ ครม. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะให้รับทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม โดยควรให้ความสำคัญกับการชี้แจงระบุเหตุผลความจำเป็น และความได้สัดส่วนที่ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา ด้วยการพูดคุยรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีคนกลางที่ได้รับการยอมรับทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการรับฟัง เพื่อเป็นหลักประกันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและทุกฝ่ายจะได้รับฟังร่วมกันพิจารณาหาทางออก นำไปสู่การยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยเร็ว