เป็นประจำทุกปีของ “สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล” หรือ “นักข่าวทำเนียบ” ที่จะมีการตั้งฉายาให้แก่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลซึ่งมีภาพลักษณ์และผลงานสะดุดตาในปีนั้นๆ ทั้งนี้การตั้งฉายาให้กับรัฐบาลและรัฐมนตรีในคณะนั้นเป็นประเพณีปฏิบัติที่มีร่วมกันมากกว่า 41 ปี โดยเริ่มต้นที่สื่อทำเนียบรัฐบาลและต่อมาจึงมีการตั้งฉายาประจำทำเนียบรัฐบาลจากสื่อสำนักข่าวร่วมด้วยในแต่ละปี
การตั้งฉายารัฐบาลเริ่มต้นในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และในบางปีมีการงดการตั้งฉายาให้กับรัฐบาลด้วยเหตุผลทางการเมืองอันส่อไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตย อาทิ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลที่ไม่อยู่ครบวาระในปีนั้นๆ หรือแม้แต่การงดเว้นกรณีเหตุชุมนุมทางการเมืองซึ่งอาจส่อให้เกิดเป็นเหตุลุกลามตามมาต่อไปในอนาคตได้
สมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์
ปี 2523 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ได้รับฉายา “รัฐมนตรีที่น่าเบื่อที่สุด” เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นหรือการให้สัมภาษณ์ของท่านมักจะไม่ค่อยเปิดเผยในสิ่งที่ประชาชนหรือสำนักข่าวอยากทราบมากนักและบ่อยครั้งที่ข่าวที่ให้แสดงความคิดเห็นมักไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอันมากนักจนทำให้นักข่าวเกิดความเบื่อหน่ายในสไตล์การตอบของท่าน
วาทะแห่งปี “กลับบ้านเถอะลูก” เป็นคำพูดประจำตัวของพลเอกเปรมที่มักให้สัมภาษณ์น้อยและเมื่อมีประเด็นอะไรในตอนท้ายของวันและท่านไม่อยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มักจะให้พูดคำดังกล่าวออกมา และเป็นที่รู้และเป็นคำพูดติดปากของนักข่าวในสมัยนั้น
ปี 2524 ได้รับฉายา “นักร้องที่ยอดเยี่ยมที่สุด” เนื่องจากภายในรอบปีที่ผ่านมาท่านมักเป็นแขกพิเศษในงานกุศลซึ่งเชิญให้นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมและภายในงานท่านมักต้อนรับแขกผู้มีเกียรติด้วยการขับร้องเพลงอยู่เสมอๆ
วาทะแห่งปี “ผิดสัญญาอีกแล้วลูก” ซึ่งเป็นคำพูดที่พลเอกเปรมมักพูดเมื่อนักข่าวเดินตามท่านเพื่อถามถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของสังคมซึ่งท่านมักไม่อยากตอบและมักให้นักข่าวกลับบ้านเพื่อปฏิเสธการสัมภาษณ์
ปี 2525 ได้รับฉายา “มีคนโอ๋มากที่สุด” เนื่องจากเวลาที่รัฐบาลมักถูกโจมตีจากประเด็นต่างๆ และแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เพียงไร ก็มักมีประชาชนกลุ่มหนึ่งยกขบวนนำช่อดอกไม้มาให้กำลังใจแก่นายกฯและกขึ้นป้ายเชียร์อยู่เสมอดังถ้อยคำที่ว่า “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกเป็นของป๋า”
วาทะแห่งปี “เหนือพรรค เหนือพวก เหนือผลประโยชน์” คำพูดที่พลเอกเปรมมักยืนยันให้สัมภาษณ์ถึงความโปร่งใสของรัฐบาล หากแต่เมื่อมาประกอบกันเป็นครม.แท้จริงแล้วผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนใหญ่มีแต่เพื่อนสนิทมิตรสหายของท่านและนำมาสู่ที่มาของคำขวัญซึ่งสื่อนำมาดัดแปลงเป็น “เหนือพรรค เหนือพวก มีแต่เพื่อน”
ปี 2526 ได้รับฉายา “ขวัญใจชนบท” เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งมักเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบทและยังให้ความสนใจแก่ชนบทด้วยการออกเยี่ยมเยือนชาวบ้านทั่วประเทศ แม้ว่าจะเป็นความตั้งใจที่แน่วแน่แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายก็ยังเป็นความหวังเล็กๆ ของชาวบ้านเพื่อหวังการพัฒนาในอนาคตต่อไปได้
วาทะแห่งปี “ก็แล้วแต่” เป็นคำพูดยอดฮิตของพล.อ.เปรมที่ใช้มาตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ดังคราวที่ท่านได้พูดว่าไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย แต่เมื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชได้ออกมาให้การสนับสนุนท่านก็พูดว่า “ก็แล้วแต่” และเมื่อมีเหตุการณ์อื่นท่านก็ให้สัมภาษณ์ในทำนองลักษณะนี้เช่น ตอนที่ พล.อ. เทียม มกรานนท์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ท่านก็พูดว่า “ก็แล้วแต่กระทรวงมหาดไทย”
ปี 2527 ได้รับฉายา “บุรุษยอดทรหด” เนื่องจากในรอบปีที่ผ่านมาแม้จะโดนกดดันในเรื่องการปรับปรุงระบบค่าเงินบาท รวมทั้งจากพลังทางการเมืองซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล หรือแม้แต่เรื่องปัญหาสุขภาพ พล.อ.เปรมฯมักออกมาแก้ไขสถานการณ์ได้อยู่เสมอและฝ่าวิกฤติไปได้โดยตลอด
วาทะแห่งปี “ขั้นตอน…ลูก…ขั้นตอน” คำพูดที่พล.อ.เปรมมักพูดอีกคำหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์เมื่อถูกถามในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและเร่งรัดให้จัดการโดยเร็วพลัน ท่านมักจะพูดคำนี้ออกมาซึ่งแสดงถึงภาพลักษณ์การเป็นรัฐกึ่งราชการในการบริหารงานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั่นเอง
ปี 2529 ได้รับฉายา “แชมป์ตลอดกาล” เนื่องจากเป็นนายกฯต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 7 ปี ครองแชมป์บนเวทีการเมืองมาแล้ว 3 สมัย
วาทะแห่งปีได้แก่ “เจ็บไหมลูก” อันมาจากการที่ พล.อ.เปรมเดินทางไปชมการชกถึงขอบสนามในการแข่งขันชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของสภามวยโลก (WBC) โดย “สด จิตรลดา” นักมวยชาวไทยขึ้นชกบนสังเวียนและครั้นเมื่อ “สด” ได้แชมป์โลก ท่านได้เป็นผู้คาดเข็มขัดให้ พร้อมถามด้วยว่า “เจ็บไหมลูก”
ปี 2530 ได้รับฉายา “อารมณ์บูดที่สุด”เนื่องจากในรอบปีได้แสดงความไม่พอใจในหลายครั้ง เช่น กรณีไล่ให้นายอำเภอปากช่องไปผูกคอตายเนื่องจากการเตรียมงานที่เต็มไปด้วยความขลุกขลัก กรณีเรื่องผู้จัดการฝ่ายบริการต้อนรับภาคพื้นดินสายการบินไทยถูกเรียกเข้าไปต่อว่าถึงความไม่พร้อมของเที่ยวบินที่ท่านกำลังขึ้นไปประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
วาทะแห่งปี “ปีนี้ไม่มีคำขวัญเพราะอารมณ์ไม่ดี” เป็นการเว้นว่างคำขวัญไว้โดยไม่เสนอวาทะแห่งปีเนื่องจากต้องการสะท้อนภาวะทางอารมณ์ของพลเอกเปรมในช่วงปีที่ผ่านมานั่นเอง
สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ
ปี 2531 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯ ได้รับฉายา “น้าชาติมาดนักซิ่ง” เนื่องจากในช่วงการขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีท่านมักพูดอยู่เสมอว่าไม่พร้อมที่จะเป็นแต่เมื่อเข้ามาบริหารกลับแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเช่น กรณีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ตึกถล่ม น้ำท่วม ไฟไหม้และอื่นๆ
วาทะแห่งปี ไม่มีปัญหา (No problem) เป็นคำพูดที่ท่านมักพูดอยู่เสมอยามถูกสื่อสัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ ที่เป็นเรื่องจับตามองของสังคม
ปี 2532 ได้รับฉายา “นักบริหารชั้นยอด” เนื่องจากเป็นผู้ที่ใช้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม แม้จะถูกเหน็บแนมอยู่บ่อยครั้งว่ากินบุญเก่ารัฐบาลก่อนหน้า แต่ด้วยบุคลิกที่เรียบง่ายก็แก้กลับไปว่า “เพราะทำบุญชาติก่อนเอาไว้ดี”
วาทะแห่งปี “มีอะไรแล้วจะบอก” เป็นคำพูดที่ท่านมักพูดเวลาถูกสื่อถามถึงความคืบหน้าของประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งการเมืองภายในและภายนอก
ปี 2533 ได้รับฉายา “ปลาไหลใส่เสก็ต” เนื่องจากการบริหารที่ผ่านมามักมีการโจมตีถึงความโปร่งใสแม้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้งแต่ก็สามารถเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง ถึงในบางครั้งจะตอบอย่างไม่สมเหตุสมผลแต่ก็ยังรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเอาไว้ได้
วาทะแห่งปี “คุณรู้จักผมน้อยไปเสียแล้ว” เป็นคำพูดที่ พล.อ. ชาติชายให้สัมภาษณ์ในภาวะที่เผชิญกับปัญหาทางการเมืองอย่างหนักหน่วงทั้งในสภาฯ และใน ครม.
สมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน
ปี 2534 ฉายา “ผู้ดีมีปัญหา” ตกเป็นของอานันท์ ปันยารชุน นายกฯ ด้วยภาพลักษณ์ที่เคยทำงานในฐานะทูตและเมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ มักชี้ให้เห็นว่าสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของประเทศมีปัญหาและบ่อยครั้งออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกรณีวิกฤตตุลาการและรัฐธรรมนูญ ท่านได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่เข้าใจคนไทย ไม่เข้าใจสังคมไทยจริงๆ” และสำหรับปีนี้ไม่มีวาทะแห่งปีจากสื่อประจำทำเนียบฯ
สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย (1)
ปี 2536 ฉายา “จอมฟุตเวิร์ก” ตกเป็นของชวน หลีกภัย นายกฯ เนื่องจากการทำงานมักตัดสินใจและ และยึดติดกับหลักการจนเกินไป และเรื่องบางเรื่องยังโยนให้รมต.ผู้รับผิดชอบจัดการเองโดยที่ตัวนายกฯไม่เข้ามาแก้ไขโดยตรง เปรียบเสมือนนักมวยที่เอาแต่ออกลีลาเต้นฟุตเวิร์กไม่ยอมชกเสียที
วาทะแห่งปี “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน” สะท้อนหลักการทำงานที่มักให้เป็นไปตามขั้นตอนและให้น้ำหนักไปที่การตัดสินใจของข้าราชการ (ไม่ล้วงลูก) จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาให้ปัญหาคลี่คลายด้วยตัวของมันเองหรือปล่อยให้ปัญหานั้นค่อยๆไกลตัวออกไป
ปี 2537 ไม่พบตัวฉายาของนายกฯ แต่มีเพียงฉายาของรมต.ร่วมคณะอาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ บัญญัติ บรรทัดฐาน ฯลฯ ซึ่งภาพรวมรัฐบาลได้รับฉายาว่า รัฐบาลเก้าอี้ดนตรี และวาทะแห่งปีได้แก่คำว่า เฮงซวย ซึ่งมาจากคำพูดที่ของเหล่ารมต.มักพูดในการให้สัมภาษณ์
สมัยรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา
ปี 2538 “หลงจู๊เสียศูนย์” ตกเป็นของบรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ เนื่องจากเป็นการทำงานในรูปแบบของเถ้าแก่บริษัท ไม่ได้มีหลักในการบริหารประเทศ บ่อยครั้งที่มติครม. ออกมามีการเปลี่ยนแปลงราวกับการเล่นขายของรวมถึงนายกฯ ไม่สามารถควบคุมพรรคร่วมฯและลูกพรรคชาติไทยได้
วาทะแห่งปี “ผมจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง” เป็นคำพูดตอนที่ท่านรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและเป็นการปราศรัยไว้จนถือได้ว่าเป็นสัญญาประชาคมแต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศกลับกลายเป็นว่าหลายๆ อย่างจะไม่เป็นไปอย่างที่ท่านพูด
สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย (2)
ปี 2541 ชวน หลีกภัย นายกฯได้รับฉายา “ช่างทาสี” เนื่องจากการทำงานบ่อยครั้งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้หลักการเพื่อปกป้องคนของตนในขณะเดียวกันคนที่อยู่ตรงข้ามมักจะถูกป้ายสีว่าเป็นคนไม่ดี เปรียบเสมือนช่างทาสีที่เลือกที่จะทาสีขาวและสีดำให้กับคนอื่น
วาทะแห่งปี “ปัญหานี้สืบเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว” เป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีใช้บ่อยครั้งเวลาถูกตำหนิในการบกพร่องในการบริหารงานท่านมักจะโยนปัญหาหรือปัดความรับผิดให้กับรัฐบาลชุดที่แล้ว
ปี 2542 ได้รับฉายา “นายประกันชั้น 1” มาจากการที่นายกฯ มักอ้างความซื่อสัตย์สุจริตของตนมาเป็นเครื่องรับประกันรัฐบาล อย่างกรณีการถูกโจมตีจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจท่านมักใช้ความเชี่ยวชาญในสภาฯตอบโต้ในกรณีที่ รมต.ตอบไม่ได้จนข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเบาลงไป จึงเสมือนหนึ่งนายประกันนั่นเอง
วาทะแห่งปี “ผมไม่ขอโทษ แต่ถ้าทำให้เสียความรู้สึก ผมก็เสียใจ” เป็นคำพูดของนายกรัฐมนตรีในกรณีแต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารพิเศษรักษาพระองค์ จนสังคมออกมาแสดงความไม่พอใจเป็นจำนวนมาก
สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
ปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร นายกฯได้รับฉายา “เศรษฐีเหลิงลม” เนื่องจากท่านเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยและภายหลังเข้ารับตำแหน่งท่านมักออกมาแสดงความมั่นใจในความต้องการบริหารประเทศ 8 ปีและหากมีผู้ใดหรือองค์กรใดวิพากษ์วิจารณ์มักโต้กลับด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเสมือนคนที่กำลังเหลิงอำนาจในตัวเองอยู่นั่นเอง
วาทะแห่งปี “บกพร่องโดยสุจริต” เป็นคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาของนายกฯ ต่อศาลรธน. ในวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ว่า “ตนไม่มีเจตนากระทำความผิด แต่อาจมีความบกพร่องผิดพลาดในเอกสารและสับสนในข้อกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการบกพร่องโดยสุจริต มิได้เป็นการทุจริตแต่อย่างใด”
ปี 2545 ฉายา “เทวดา” มาจากสไตล์การบริหารของนายกฯที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนไม่ยอมรับฟังคำติติงหรือคำคิดเห็นของคนอื่น และโต้กลับไปด้วย คำพูดที่ว่า ไม่มีความรู้บ้าง ขาดความเข้าใจบ้างเสมือนเทวดาที่ยึดติดความคิดของตนเป็นหลักในการชี้ถูกผิดภายใต้บรรทัดฐานของตัวเอง
วาทะแห่งปี “รู้น้อยอย่าพูดมาก” เป็นคำพูดของนายกฯที่ใช้ตอบโต้คนที่เห็นต่างหรือแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี
ปี 2546 ฉายา“นายทาส”มาจากการที่เป็นผู้ประกาศปลดปล่อยคนไทยให้หลุดพ้นจาก “พันธนาการ” ความยากจน ยาเสพติด และพ้นจากทาส IMF แต่กลับนำกลไกของรัฐมาสร้างพันธนาการใหม่ให้กับประชาชนด้วยนโยบาย “ก่อหนี้” ทุกรูปแบบ ทั้งยังส่งเสริมระบบเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน ประหนึ่งว่ากำลังสนับสนุนค่านิยมเสี่ยงโชคและอาจทำให้ประชาชนต้องตกเป็นทาสการพนันไปในที่สุด
วาทะแห่งปี “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” มาจากกรณีที่ OHCHR จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์การดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดของไทยซึ่งนายกฯให้สัมภาษณ์หลังจากทราบข่าวว่า “คุณอย่ามาห่วง ยูเอ็นไม่ใช่พ่อผม เราเป็นสมาชิกก็ว่ากันไปตามกติกาโลก คุณอย่าไปถามมาก อย่าไปถามไม่มีปัญหา มาก็มา สอบก็สอบ ถามทุกวัน”
ปี 2547 ฉายา “ผู้นำจานด่วน” มาจากบุคลิกนายกฯ ที่เป็นคนทำงานเร็ว ฉับไว โดยไม่สนวิธีและกระบวนการคล้ายๆกับการกินอาหารจานด่วน ที่เน้น เร็ว อิ่ม ไม่ต้องสนใจรสชาติมากมายแต่สุดท้ายหากทานบ่อยเข้าอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้
วาทะแห่งปี “โจรกระจอก” อันมาจากท่อนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของนายกฯ หลังเหตุการณ์ 4 มกราคม 2547 ที่มีการเผาโรงเรียน 18 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งสืบเนื่องมาจากการปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย และได้อาวุธปืนไปกว่า 314 กระบอก
ปี 2548 “พ่อมดมนต์เสื่อม” มาจากการได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนกว่า 19 ล้านเสียง แต่จากการทำงานช่วงระยะเวลาไม่ถึงปี ภาพที่เคยถูกมองว่าเป็น “เทวดา” กลับกลายเป็น “พ่อมด” ที่ใช้แต่อารมณ์ ประกอบกับความเชื่อมั่นลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้คำพูดที่เคยศักดิ์สิทธิ์ในวันนี้กลับเสื่อมถอยลง
วาทะแห่งปี “จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เรา ต้องดูแลเป็นพิเศษ” เป็นคำพูดของนายกฯ ในระหว่างการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร จ.นครสวรรค์ หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อม โดยเฉพาะที่ จ.พิจิตร เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของผู้นำในการเลือกปฏิบัติ เน้นการเมืองสำคัญมากกว่าการบริหารประเทศ
สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ปี 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับฉายา “หล่อหลักลอย” มาจากการมีภาพลักษณ์ดี หน้าตาดี การศึกษาดี มักประกาศจุดยืนและหลักการด้านประชาธิปไตย แต่เมื่อมีรมต.บางคนมีปัญหาความไม่โปร่งใส กลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
วาทะแห่งปี ““ใครก็ตามที่ประกาศชัยชนะ ผมถือว่าคนคนนั้นและกลุ่มคนนั้นคือศัตรูของประเทศอย่างแท้จริง” มาจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่นายกฯกล่าวไว้หลังจากกลุ่มคนเสื้อแดงนำมวลชนบุกล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนและคู่เจรจาที่เมืองพัทยา และประกาศว่าเป็นชัยชนะของชาวเสื้อแดง
ปี 2553 “ซีมาร์คโลชั่น” ฉายาของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอีกหนึ่งปีที่สะท้อนว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ เป็นเพียงการบรรเทาโรคท่ามกลางวิกฤติของประเทศ เปรียบเสมือนการใช้ “ซีม่าโลชั่น” ทาแก้คันเพียงเท่านั้น
วาทะแห่งปี “ถ้าเลือกตั้งแล้วนองเลือด แล้วผมชนะ ผมไม่เอาหรอก” เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ต.ค.53 ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์
สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ปี 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับฉายา “นายกฯ นกแก้ว” มาจากการมีบุคลิกดี โดดเด่น คล้ายกับนกแก้วที่มีสีสันสวยงาม แต่ไม่สามารถบินไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ต้องมีพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด และทำให้บทบาทของนายกฯ ต่อสาธารณชนจึงเป็นนกแก้วที่พูดตามบทที่มีคนเขียน หรือบอกให้พูดเท่านั้น
.
วาทะแห่งปี “น้ำตาที่ไหลไม่ได้มาจากความอ่อนแอ ใครไม่โดนไม่รู้ มันเป็นอารมณ์ร่วม” เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเผชิญวิกฤติอย่างหนักจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554
ปี 2555 ได้รับฉายา “ปูกรรเชียง” โดยล้อมาจากชื่อเล่น “ปู” ของนายกฯ ที่มีลักษณะเดินเซไปเซมา ไม่ตรงทาง เหมือนกับการบริหารงานที่ต้องแบกรับภาระและใบสั่งจากพี่ชายอยู่เสมอ ประกอบกับผลงานขาดความเป็นรูปธรรม ได้แต่เดินโชว์ไปโชว์มา เมื่อมีปัญหาก็มักจะตีกรรเชียง ลอยตัวหนีปัญหา
วาทะแห่งปี “คำว่าลอยตัวนั้นต่างกับคำว่าไม่รับผิดชอบ” คำกล่าวของนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ หลังถูกกล่าวหาเรื่องการขาดความรับผิดชอบ ลอยตัวเหนือปัญหา
สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้รับฉายา “อิเหนาเมาหมัด” มาจากคำสุภาษิตไทย ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เปรียบ แนวทางปฏิบัติและนโยบายที่มักจะตำหนิหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแต่สุดท้ายกลับทำเสียเอง
วาทะแห่งปี “อย่าเพิ่งเบื่อผมก็แล้วกัน ยังไงผมก็อยู่อีกนานพอสมควร” มาจากคำกล่าวระหว่างการให้โอวาทเจ้าหน้าที่และนักกีฬาทีมชาติไทยที่จะเดินทางไปร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30
ปี 2563 ได้รับฉายา “ตู่ไม่รู้ล้ม” โดยล้อคำจาก “โด่ไม่รู้ล้ม” ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงานที่ไม่ว่าจะประสบปัญหา อุปสรรคการเมือง หรือชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้
วาทะแห่งปี “ไม่ออก.. แล้วผมทำผิดอะไรหรือ” เป็นคำกล่าวของ นายกฯ ที่ตอบข้อสักถามของสื่อ พร้อมกับบรรดาครม.ที่ยืนเรียงหน้าประกาศความเหนียวแน่น ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอให้นายกฯลาออกจากตำแหน่ง
ล่าสุด ปี 2564 ได้รับฉายา “ชำรุดยุทธ์โทรม” โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ถือได้ว่า เป็นผู้ที่รับบทหนักที่สุดแห่งปี ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง ถูกโจมตีรอบด้าน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
วาทะแห่งปี”นะจ๊ะ” มาจากคำพูดติดปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แม้จะเป็นคำสามัญธรรมดาที่ใช้ทั่วไป แต่กลายเป็นคำไม่ธรรมดา เมื่อออกจากปากของผู้นำประเทศในช่วงสถานการณ์วิกฤติ แม้นายกรัฐมนตรีเลือกใช้คำดังกล่าว เพื่อที่จะลดอุณหภูมิของสถานการณ์ลง แต่สังคมสะท้อนกลับให้เห็นผ่านเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ว่าเป็นการใช้คำไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ กระทบกระเทือนจิตใจผู้คน โดยเฉพาะการพูดหลังการประชุมวัคซีนและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ตึกภักดีบดิทร์ ทำเนียนรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564
ที่มา
วีระ เลิศสมพร, “ชื่อ ฉายา และสมญานาม ทางการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2545 เล่ม 3” ,พิมพ์ครั้งที่ 1,กรุงเทพมหานคร : กิจเสรีการพิมพ์, 2546
ฐานเศรษฐกิจ (2562),“รวมฮิตฉายานายกฯ 3 ยุค ‘ตู่-ปู-มาร์ค’”, https://www.thansettakij.com/columnist/417424
ไทยรัฐออนไลน์ (2563), “ตั้งฉายารัฐบาลปี63 “VERYกู้” “ตู่ไม่รู้ล้ม” ป้อม 75 ปี “ไม่รู้โรย””, https://www.thairath.co.th/news/politic/2003204