“ไทยรักไทย” ในวันนั้น สู่ “เพื่อไทย” ในวันนี้: ย้อนรอยสโลแกน แนวคิด ความหวัง นโยบายสู่ประชาชน

แรกเริ่มของการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อันนำโดยแกนนำคนสำคัญอย่าง ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม กล่าวถึงแนวคิดในวันเปิดตัวพรรค วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 อันมีใจความตอนหนึ่งว่าพรรคไทยรักไทย หมายถึง “การรวมพลังความรักและความเสียสละของคนไทย เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์และฟื้นฟูประเทศไทย” โดยพรรคมีคำขวัญว่า “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน”

ภาพจำของไทยรักไทยในการเปิดตัวจนกระทั่งการเข้าสู่สนามการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 6 มกราคม 2544 ยังคงภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ ภาพลักษณ์ใหม่ แนวนโยบายใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนชิมลางในการเลือกตั้งครั้งนั้น ในครั้งนั้นผลการเลือกตั้งเรียกได้ว่า “หักปากกาเซียน” ชนิดที่ว่า พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงข้างมากเกินกว่าพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง ประชาธิปัตย์ ถึง 248 เสียงต่อ 128 เสียง

“คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” คือ สโลแกนอย่างสั้นแต่กระชับไปด้วยความหมายที่ซ่อนนโยบายแห่งความหวังและแนวคิดให้กับสังคมไทยในขณะนั้น พร้อมนำเสนอนโยบายที่เรียกว่า ประชาธิปไตยกินได้ อย่าง นโยบายพักหนี้เกษตรกร นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค รวมไปถึงแนวคิด จากรากหญ้าสู่รากแก้ว นโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

หลังการเข้าสู่ตำแหน่ง การเติบโตของนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ดร. ทักษิณ ชินวัตร สร้างรายได้และมูลค่างานแก่ชาวชนบทจำนวนมากพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาโครงสร้างของประเทศ และสร้างความชอบธรรมในการลงทุนผ่านนโยบาย แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน กระตุ้นให้ประชาชนสนใจการออม เช่น การส่งเสริมการลงทุนระยะยาว รวมถึงภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่บริหารงานได้โดยเห็นผลอย่างรวดเร็ว ทำให้ยุคของการ “ยังไม่ได้รับรายงาน” ภาพติดตาของนายกรัฐมนตรีคนก่อน ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปในรัฐบาลชุดนี้ เหตุดังกล่าวจึงประกอบสร้างให้พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมในหมู่คนชนชั้นรากหญ้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ครบรอบ 4 ปี ของการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นกแลในทางการเมือง (ศัพท์ทางการเมืองไทยที่ใช้เรียกถึงผู้สมัครหน้าใหม่) กลับเป็นคู่แข่งสำคัญเมื่อนโยบายที่จับต้องได้กอปรกับการลงพื้นที่ของผู้สมัครที่มากกว่าผู้ที่เคยครองตำแหน่งก่อน ทำให้ก่อนการเลือกตั้งในปี 2548 เป็นอีกปีที่ประชาธิปัตย์ต้องออกมาปรับชุดวิธีการหาเสียงและปรับกรรมการบริหารพรรคอย่างหัวหน้าพรรคที่ชื่อ “ชวน หลีกภัย” ก็เปลี่ยนเป็น “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ในการนำสู้ศึกเลือกตั้งแทน

การพัฒนาแนวคิด “คิดใหม่ ทำใหม่” สู่การ “คิดอีก ทำอีก” เพื่อความสุขของคนไทย คำกล่าวตอนหนึ่งในวันที่ 27 ธันวาคม 2546 ของนายกรัฐมนตรีในงานสัมมนาสมาชิกพรรคไทยรักไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง สะท้อนแนวคิดที่มุ่งไปข้างหน้าของพรรค ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถทานกระแสประชานิยมในขณะนั้นได้คงทำได้เพียงการนำเสนอและขยายข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการเปิดโปงการทุจริตต่อสังคม

.

การเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยใช้สโลแกนในการหาเสียงขณะนั้นโดยชูคำว่า 4 ปีซ่อม (หายนะจากวิกฤติ) 4 ปีสร้าง (ชาติให้แข็งแกร่งยั่งยืน) โดยนำเสนอถึงผลงานรัฐบาลที่ผ่านมาและบรรลุผลและนโยบายที่จะทำในอนาคตหากได้รับเลือก อาทิ โครงการแปลงกองทุนหมู่บ้านที่มีความพร้อมให้เป็นธนาคารหมู่บ้าน โครงการจัดสรรงบ SML โครงการจัดสรรวัว 2 ล้านตัว โครงการคาราวานแก้จน บุกทุกหลังคาเรือน เป็นต้น

การหาเสียงโดยการใช้คำว่า 4 ปีซ่อม 4 ปีสร้างถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่พรรคไทยรักไทยใช้ตอกย้ำความสำเร็จในผลงานและใช้หาเสียง โดยนำรูปของนายกรัฐมนตรีเป็นพรีเซนเตอร์ ผ่านโปสเตอร์ ป้ายหาเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ แบนเนอร์ รวมทั้งการจัดประชุม ครม.สัญจร ซึ่งไปกินนอนกับผู้นำท้องถิ่นก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระเพียงไม่กี่เดือน สอดคล้องกับปรับคำขวัญของพรรคเป็น “ไทยรักไทยหัวใจคือประชาชน”

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ใช้กลวิธีในการนำเสนอการทวงคืนประเทศ ด้วยสโลแกนว่า “201 เสียง เพื่อทางเลือกที่ดีกว่า-สร้างรัฐบาลและการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนด” โดย 201 เสียงเป็นจำนวนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขั้นต่ำในการยื่นญัตติอภิปรายนายกรัฐมนตรี อันแสดงถึงการยอมรับอย่างกลายๆ ว่าพรรคไม่สามารถทานกระแสนิยมไทยรักไทยได้และต้องดึงความเห็นใจของประชาชนในการเลือกเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลให้ได้มากกว่าเดิม​

หลังการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่ง โดยมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 310 ที่นั่งและบัญชีรายชื่ออีก 67 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 96 ที่นั่ง พรรคชาติไทยได้ 25 ที่นั่ง พรรคมหาชนได้ 2 ที่นั่งในระบบเขต ปัจจัยการได้ที่นั่งเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรนี้เองจึงนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวและบริหารงานก่อนที่ปัญหาความขัดแย้งทั้งจากในพรรคและนอกพรรคจะตามมาในปี 2549

การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เกิดขึ้นหลังความไม่พอใจของประชาชนต่อพฤติการณ์ของรัฐบาลที่ส่อไปในทางทุจริตและการประท้วงของประชาชนบางกลุ่มซึ่งเรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในขณะนั้นพรรคไทยรักไทยได้ลงสู่สนามเลือกตั้ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคอย่างประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ประกาศไม่ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้

ไทยรักไทยใช้สโลแกนในขณะนั้นในการหาเสียงว่า “ยึดมั่นประชาธิปไตย รักษากติกา เดินหน้าปฏิรูปการเมืองไทย” อันสะท้อนถึงปัญหาสังคมในขณะนั้นที่ ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาและมีการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องจำนวนมาก รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ในปีเดียวกันเกิดเหตุการณ์รัฐประหารและการเลือกตั้งที่ถูกจัดให้เกิดในวันที่ 15 ตุลาคม ต้องยกเลิก ไทยรักไทยขณะนั้นถูกคดีความประเด็น “การจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง” จนนำไปสู่การยุบพรรคในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ก่อนที่สโลแกนบนแบนเนอร์ไทยรักไทยคำสุดท้ายที่ทิ้งไว้ในเวลานั้น คือ “ยืนหยัด ต่อสู้เพื่อประชาชน ด้วยอุดมการณ์ไทยรักไทย”

การกลับมาของไทยรักไทยในนามของพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค และพรรคคู่แข่งสำคัญอย่าง พรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นพรรคใช้คำขวัญว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยพลังประชาชน” และสโลแกนในการชูธงหาเสียงว่า “เศรษฐกิจแย่ คนแก้ต้องพลังประชาชน” ข้อสังเกตสโลแกนดังกล่าว จะเห็นว่าพรรคชาติไทยเคยใช้คำลักษณะนี้ในการรณรงค์หาเสียงเมื่อปี 2539 คือ คำว่า “เศรษฐกิจแย่ คนแก้ต้องน้าชาติ”

ต่อสโลแกนดังกล่าวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ประสบปัญหาและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ถดถอยจากเดิม การชูธงเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยใช้ภาพจำของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นการนึกหวนกลับเมื่อครั้งสมัยบ้านเมืองยังดีอย่างไรอย่างนั้น และไม่พอการที่นายสมัคร สุนทรเวชเป็นหัวหน้าพรรคประกอบกับคำขวัญของพรรคด้วยที่เสมือนคำขวัญของกองทัพ แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักอย่างยิ่งยวด ซึ่งในอดีตพรรคถูกกังขาและโดนข้อครหาในประเด็นดังกล่าวตลอดมา

ภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชนและนำมาสู่การเปลี่ยนขั้วรัฐบาล และกำเนิดใหม่ในนามพรรคเพื่อไทย ในเริ่มแรกของพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายค้านภายใต้สโลแกน “เพื่อไทย…เพื่ออนาคตประเทศไทย” และลงชิมลางในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2552 โดยส่งยุรนันท์ ภมรมนตรี ลงแข่งกับ มรว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และสนามการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในชื่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและมาพร้อมกับสโลแกนหลักในการหาเสียงอย่าง (ขอ) คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน (อีกครั้ง) นอกจากนี้ยังปรากฏการใช้คำอื่นในป้ายหาเสียงของผู้สมัครในบางพื้นที่เช่น “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ คนเคยทำสนับสนุน” “หาที่พักให้หนี้ หางานให้ทำ หาเงินให้ใช้ หาโอกาสใหม่ให้คนไทย”

การชูคำว่าคิดใหม่ทำใหม่อีกครั้ง ไม่เพียงแต่สะท้อนการทำงานของพรรคในอนาคตหลังการเลือกตั้งแต่ยังสะท้อนถึงการกลับมาของนโยบายใหม่ๆ และสร้างความนิยมให้กับประชาชน อย่างนโยบาย รถคันแรก บ้านหลังแรก นโยบายจำนำข้าว นโยบาย One tablet per child เด็กนักเรียนมีคอมพิวเตอร์ใช้ การชูนโยบายและสโลแกนบนแบนเนอร์ทุกเวทีการหาเสียงส่งผลให้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2554 ได้รับคะแนนเสียงถึง 265 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

หลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคมด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พรรคเพื่อไทยใช้สโลแกนหาเสียงด้วยคำว่า “2 กุมภา เข้าคูหา รักษาประชาธิปไตย” และขอโอกาสพรรคเพื่อไทยเดินหน้าทำงานเพื่อสานต่อนโยบายเดิมให้สำเร็จ สะท้อนถึงกระแสสังคมต่อการเลือกตั้งในครั้งนั้น รวมทั้งขอความเห็นใจต่อประชาชนที่ยังสนับสนุนเพื่อสานต่องานเดิม แต่แล้วการเลือกตั้งในครั้งนั้นก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะและจบด้วยรัฐประหารอีกเช่นเคย

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ล่าสุดพรรคเพื่อไทยกลับมาใช้การชูคำขวัญของพรรคในการหาเสียงอีกครั้งด้วยคำว่า พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน พร้อมเพลงประกอบการหาเสียง พรรคเพื่อไทย หัวใจเพื่อเธอ และประเด็นหลักในการหาเสียงนอกจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้วยังเป็นการหาเสียงในนามฝ่ายประชาธิปไตย และถึงแม้หลังการเลือกตั้งจะมีที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรแต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และปัจจุบันเป็นฝ่ายค้าน

สังคมประชาธิปไตยและการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ถือเป็นกระแสหนึ่งที่ทำให้พรรคต้องปรับตัวเข้าหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหม่และไม่ทอดทิ้งกลุ่มเดิมด้วยนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและภาพลักษณ์การเข้าถึงง่าย ใช้คล่อง ของพรรครวมถึงการเปลี่ยนสโลแกนและภาพจำใหม่เป็น ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ในการประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 28 ตุลาที่จะถึงนี้พรรคเพื่อไทยได้ออกแคมเปญใหม่อีกครั้งพร้อมชูสโลแกนใหม่ ด้วยคำว่า พรุ่งนี้ เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน โดยคำว่า พรุ่งนี้เพื่อไทย เป็นลายมือของอดีตนายกรัฐมนตรี Tony woodsome หรือ ทักษิณ ชินวัตร พร้อมด้วยการนำคำดังกล่าวไปติดเป็น #พรุ่งนี้เพื่อไทย และการนำคำหรือรูปไปใส่ในช่องว่าง ระหว่างเพื่อและคำว่าไทย

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังได้เปลี่ยนสีของพรรคเป็นสีแดงสดเพื่อต้อนรับกระแสยุคใหม่ กลวิธีดังกล่าวสะท้อนถึงความเป็นเพื่อไทยในการแก้ไขปัญหาของสังคมและการปรับเพื่อคนที่เคยสนับสนุนพรรคตั้งแต่ยุค ทักษิณ ชินวัตร และคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มในการสร้างพรรคต่อไป

อ้างอิง

Thaksin official (2564), “สัญญาประชาคมของพรรคไทยรักไทย “หัวใจคือประชาชน”, Thaksin official.com, https://www.thaksinofficial.com/สัญญาประชาคมของพรรคไทย/

กฤษณา ไวสำรวจ (2549), “โครงการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง”, สถาบันพระปกเกล้า, https://kpi.ac.th/media/pdf/M8_183.pdf

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2551), “สายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย”,กรุงเทพฯ: พีเพรส

Thai PBS news, “ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง”, Thai PBS website, https://news.thaipbs.or.th/content/277723

กรุงเทพธุรกิจ, “โทนี่ ทักษิณ” รีแบรนด์ “เพื่อไทย” รีเทิร์น, กรุงเทพธุรกิจ, https://www.bangkokbiznews.com/politics/966382