ฝนตกหนักท่วมกรุง? : เอาอยู่ปี 54 หรือ ไม่รู้ปี 65

ภายหลังการอ่อนกำลังลงของพายุดีเปรสชัน “มู่หลาน” ในกลางเดือนสิงหาคม 12 ส.ค. 65 มีการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดว่าจะมีอิทธิพลจากพายุในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมอีกระลอก ท่ามกลางความวิตกกังวลของประชาชนถึงเหตุการณ์ที่จะซ้ำรอย วิกฤตอุทกภัยปี 2554 อีกหรือไม่นั้น มี 3 ปัจจัยหลัก คือ

1) ปริมาณฝนสะสมช่วงก่อนฤดูฝนมากกว่าค่าปกติ

2) ปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าฝั่งตะวันออก ความชื้นสูง

3) ปรากฏการณ์ไอโอดี IOD – Indian Ocean Dipole ซึ่งเป็นการสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเกิดเมื่อมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออกและตะวันตกมีระดับน้ำไม่เท่ากัน และหากเป็นลบจะทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียสูงกว่าฝั่งตะวันตก ความชื้นสูง

โดยในปี 2554 นั้น เกิดจาก 2 ปัจจัยคือ เหตุการณ์ลานีญา ที่จะทำให้ภายในประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติประกอบกับปริมาณสะสมของปริมาณน้ำฝนจากอิทธิพลของพายุทั้ง 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก

โดยช่วงปลายเดือนมิถุนายน มีพายุโซนร้อน “ไหหม่า” ถัดมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พายุ “นกเตน” ได้พัดถล่มซ้ำพื้นที่เดิมอีก ทำให้ปริมาณน้ำยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และต่อด้วยพายุ “ไห่ถาง” ในเดือนกันยายน ต่อมา พายุ “เนสาด” ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยต่อเนื่องจากพายุ “ไห่ถาง” บริเวณที่ได้รับผลกระทบยังคงเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือ ส่วนพายุลูกสุดท้ายคือ พายุนาลแก ในช่วงเดือนตุลาคมที่ทำให้ฝนตกมากในภาคกลางและภาคตะวันออก

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นอกจากจะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นแล้ว การระบายน้ำกลับมีข้อจำกัด เนื่องจากท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน และน้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งครั้งนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมวลี “เอาอยู่” โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และฝ่ายปฏิบัติการตามลำดับ

ขณะที่ปี 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการบริหารการจัดการน้ำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เจ้าของวลี “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้เลย” ได้ออกมาเตรียมการรับมือปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ จากอิทธิพลของพายุหรือร่องมรสุมที่พาดผ่านทำให้มีฝนตกมากกว่าปกติในปีนี้

โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุถึง ความเสี่ยงสูงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2565 ว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะอุทกภัยในบางพื้นที่ โดยสัญญาณชัดเจนมาจากดัชนี ONI ที่สะท้อนภาวะลานีญาในระดับปานกลาง (Moderate La Niña)

รวมถึงดัชนี PDO หรือ Pacific Decadal Oscillation (PDO) และ IOD หรือ Indian Ocean Dipole (IOD ที่ถ้าอยู่ช่วงลบหรือ Negative Phase (ต่ำกว่า -0.5) จะทำให้แนวโน้มปริมาณพายุหรืออิทธิพลของพายุต่อปริมาณการสะสมของในจะมากกว่าปกติ ซึ่งปี 2565 ค่าทั้งสองอยู่ในระดับติดลบเช่นเดียวกับปี 2554

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีระดับสูงใกล้เคียงปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย โดยปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ปริมาณน้ำทั้งหมดในเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ที่ 40,045 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56.5 ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 3 ปี และสูงกว่าปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 38,132 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 55 ของปริมาตรความจุฯ)

เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ร้อยละ 63.9 ของปริมาตรความจุฯ โดยพื้นที่เสี่ยงได้แก่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรียังได้ประมาณการพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปี 2565 นี้จะอยู่ที่ 5.3 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 790 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 11.6 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ราวร้อยละ 0.08

และสำหรับปริมาณพายุในปี 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะเผชิญพายุหมุนเขตร้อนจำนวน 2 ลูก โดยเคลื่อนที่ผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ อย่างไรก็ตาม สถิติปริมาณพายุที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยย้อนหลังพบว่ามาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ลูกต่อปี

อย่างไรก็ตามนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกมาระบุถึงแผนการระบายน้ำ ที่ยังท่วมอยู่ในหลายพื้นที่ขณะนี้ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมนี้จะมีพายุเข้าไทยโดยตรงว่า

ครม. ได้รับทราบ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ตั้งแต่เดือน พ.ค. เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) การตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน) ทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำหลากและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ1ในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นต้น

นอกจากนี้ในพื้นที่ 12 ทุ่งรับน้ำเจ้าพระยาก็ได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับน้ำหากมีพายุเข้ามาในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ทั้งนี้คาดว่าเหตุการณ์จะไม่ซ้ำรอยเหมือนกับปี 54 อย่างแน่นอน

#NewsXtra #อุทกภัย #น้ำท่วม

ที่มา

– สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (2554), “บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554”, http://tiwrmdev.hii.or.th/current/menu.html

– วิจัยกรุงศรี (2565), “ความเสี่ยงอุทกภัยในปี 2565 และผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง”,https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Flood-2022

– ไทยรัฐออนไลน์ (2565), “พายุมู่หลาน ฉบับสุดท้าย เตือน 15 จังหวัดฝนตกหนัก น้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลาก”,https://www.thairath.co.th/news/local/2470576

– รัฐบาลไทย (2565), “ครม. เปิด 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในฤดูฝนปี 65 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 65 – 66”,https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/54182