“ประธานาธิบดีเปรู” รอดพ้นจากการ “ถอดถอน” เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 8 เดือน

เปโดร คาสติลโย ประธานาธิบดีของเปรูคนปัจจุบัน ได้รอดพ้นจากการถูกถอดถอนโดยรัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 8 เดือน หลังจากดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564

รัฐสภาเปรูที่มีสมาชิก 130 คน ต้องการเสียงสนับสนุนญัตติการถอดถอนครั้งนี้อย่างน้อย 87 เสียง ซึ่งท้ายที่สุดได้เสียงเพียงแค่ 55 เสียง นอกนั้นเป็นการออกเสียงไม่เห็นด้วยทั้งสิ้น 54 เสียง และงดออกเสียง 19 เสียง

“ผมขอยกย่องจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และประชาธิปไตย ผมรู้จักและจดจำทุกคนที่ลงคะแนนสวนญัตติ ผมก็เคารพทุก ๆ การตัดสินใจ และผมขอเรียกร้องให้ทุก ๆ คนกลับมาร่วมมือกันฟันฝ่าความท้าทายที่ประเทศของเรากำลังเผชิญอยู่ด้วยกันต่อไป” เปโดร คาสติลโย กล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาหลังผลการลงมติออกมา

เหตุที่รัฐสภาได้ยื่นญัตติถอดถอนคาสติลโย ก็เป็นผลจากการสืบสวนที่มีมูลเหตุบ่งชี้ว่าเขาได้เกี่ยวข้องกับการทุจริต และด้วยกฎหมายเปรูปัจจุบันทำให้การสอบสวนดำเนินต่อไปไม่ได้ถ้าหากประธานาธิบดียังคงดำรงตำแหน่งอยู่ นอกจากนี้ เปโดร คาสติลโย ยังถูกกล่าวหาจากอดีตคนรอบตัวว่าเขาเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมและรับสินบนเพื่อแลกกับการได้งานในกิจการสาธารณะของรัฐ

จากทั้งหมดนั้น ทำให้สมาชิกรัฐสภาเปรูได้ชี้ว่า ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน “ไม่มีจริยธรรมเพียงพอ” ซึ่งตามรัฐธรรมนูญสามารถใช้ยื่นญัตติถอดถอนได้ แม้ว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างลงความเห็นกันว่า เหตุดังกล่าวอันใช้เป็นเหตุของญัตติถอดถอนผู้นำประเทศมาแล้ว 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2560 มีความ “คลุมเครือ” เกินไป และเป็น “การเมือง” มากเกินไป

“เราพบแต่เพียงการให้ความเห็นที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ เลย และไม่สามารถเชื่อมโยงถึงตัวผมได้” คาสติลโย กล่าวก่อนการเริ่มลงมติต่อหน้ารัฐสภา

เปโดร คาสติลโย กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองทั้งครั้งก่อนและครั้งนี้จะทำให้ตำแหน่งของเขาไม่มั่นคง เพราะนับตั้งแต่เริ่มลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ตัวคาสติลโยเองถูกมองว่าเป็นรองเสมอ ๆ โดยเขาชูนโยบายสนับสนุนการแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญเปรูใหม่ อีกทั้งยังชูนโยบายการนำกิจการเหมืองแร่ให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติอีกด้วย ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง เขาชนะคู่แข่งเพียงแค่ 44,000 คะแนนเท่านั้น นั่นจึงเท่ากับว่าเขามีเสียงสนับสนุนอย่างหมิ่นเหม่มาตั้งแต่ต้น

อดีตครูของโรงเรียนในแถบเทือกเขาแอนดีสอันห่างไกล คาสติลโยมี “พรรคพวก” เป็นผู้มีอำนาจที่ให้การสนับสนุนเขาไม่มากนัก และทำให้ตัวเลือกคณะรัฐมนตรีของเขามีอย่างจำกัด และก็มีแต่การทุจริต แม้กระทั่งเลขานุการส่วนตัวเขาเอง ก็ถูกอัยการคดีทุจริตค้นพบเงินสินบนกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 620,000 บาท) ถึงภายในทำเนียบประธานาธิบดี

บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อเปรูเป็นอย่างมาก เพราะผู้คนอาจจะกำลังหมดศรัทธาต่อระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยอีกครั้งและมองหาสิ่งอื่นที่ให้ความมั่นคงได้มากกว่า

“สิ่งที่เกิดขึ้นในเปรูได้ยืนยันว่าระบบระเบียบต่าง ๆ ในเปรู รวมถึงหลักการพื้นฐานของบ้านเมืองนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ชาวเปรูจะโกรธแค้นระบบการเมืองปัจจุบันที่นำมาแต่ปัญหา และท้ายที่สุดพวกเขาจะหันไปสนับสนุนเผด็จการ เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกอีกต่อไป สำหรับพวกเขาประชาธิปไตยมีแต่ปัญหากลับกัน เผด็จการนำมาซึ่งความมั่นคงทางการเมืองให้กับเปรูได้” คลาวเดียร์ เนบาส นักวิเคระห์ด้านความเสี่ยง ระบุ

ในเวลานี้ เปโดร คาสติลโย กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองอันยากลำบาก และเขาก็มารับตำแหน่งหลังจากความวุ่นวายทางการเมืองในเปรูที่กินเวลามาอย่างยาวนาน นำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของเหล่าปวงชนที่ออกมาเรียกร้องบนท้องถนนหลายต่อหลายคน รวมไปถึงการเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศถึง 3 คน ในสองสัปดาห์ จนคาสติลโยเข้ามารับตำแหน่ง

เนบาส ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า เพื่อแก้ไขความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้น การจัดสรรอำนาจของพรรครัฐบาลต้องเกิดขึ้นใหม่ รัฐบาลต้องรักษาความมั่นคงทางอำนาจให้ได้มากกว่าเดิม และตัวคาสติลโยจะต้องสู้กับความตกต่ำของศรัทธาจากประชาชนโดยการ “ปฏิรูป” ประเทศ ให้สำเร็จดั่งที่ตนได้หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะยากลำบากถึงเพียงใดก็ตาม

อ้างอิง

https://www.miamiherald.com/news/nation-world/world/article259888770.html

https://www.aljazeera.com/news/2022/3/28/peru-president-castillo-braces-for-imminent-impeachment-vote