สนธิรัตน์ เตือน อย่าดึงเงินออกจากกระเป๋า ปชช. ชี้ รัฐบาลอยู่ได้ แต่ ปชช.อยู่ไม่ได้

อดีต รมว.พลังงาน เตือนรัฐต้องเสียสละ ไม่ดึงเงินออกจากกระเป๋า ปชช. หลังพรุ่งนี้ น้ำมันดีเซล จะปรับขึ้นเป็น 32 บาท/ลิตร ชี้ อย่ามุ่งแค่เก็บภาษีตามเป้า บอกรัฐบาลอยู่ได้ แต่ ปชช.อยู่ไม่ได้ แนะ รัฐควรต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไป ฉะภายเรือในอ่าง หากต้องไปหากู้เพื่อนำเงินใส่กองทุนน้ำมัน ที่ติดลบกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

วันที่ 30 เม.ย. 65 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ปรามรัฐบาล ไม่ควรทำอะไร ที่ดึงเงินออกจากกระเป๋าประชาชน ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ โดยระบุ ว่า อย่างที่ทราบว่า พรุ่งนี้ 1 พฤษภา 65 ราคาน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มจะขึ้นเป็น 32 บาท ต่อลิตร สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือ เราต้องควักเงินออกจากกระเป๋าสตางค์เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาข้าวของก็จะสูงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิต การขนส่ง ที่ปรับตัวตามราคาน้ำมัน

นายสนธิรัตน์ ย้ำว่าในเวลาที่ประชาชนลำบากอย่างนี้ รัฐต้องเสียสละ อย่าไปมุ่งอยู่กับเป้าของการเก็บภาษีให้ได้ตามเป้า การที่น้ำมันดีเซลราคาขึ้นก็เพราะต้นทุนน้ำมันจากราคาตลาดโลกที่คุมไม่ได้ บวกกับโครงสร้างภาษีและอื่นๆที่เป็นสูตรเฉพาะของเรา

ตนขอเสนอว่า เรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐควรต่ออายุการลดออกไปอีกครับ รัฐต้องยอม ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ต้องมาช่วยอุ้มประชาชน

และโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันคืออีกหนึ่งคำตอบ คือทางออกของเรื่องนี้ โดยวันนี้กองทุนน้ำมันติดลบ ประมาณ 24,000 กว่าล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบประมาณ 31,000 กว่าล้านบาท การช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมัน ด้วยการไปหาเงินกู้มาใส่ในกองทุน จึงเหมือนเป็นการพายเรือในอ่าง

เพราะการไม่ลดการเก็บภาษี แต่สุดท้ายก็ไปกู้เงินมา เพื่อมาพยุงราคา จริงๆ แล้วก็คือ เงินไม่มีพอทั้งคู่ แต่ไม่ไปดูไปลดที่โครงสร้างภาษีน้ำมัน

ดังนั้น เราสามารถกลับไปดูการแก้ไขที่เคยพูดว่าในภาวะวิกฤต เราสามารถกลับไปดูเรื่องต้นทุนน้ำมันและบริการจัดการเฉพาะกิจ ตนเคยพูดเรื่องการอิงราคาหน้าโรงกลั่น ว่าให้เปลี่ยนจากการคิดราคาอ้างอิงแบบเก่าจากการอ้างอิงราคาโรงกลั่นจากสิงคโปร์ มาเป็น การคิดอิงต้นทุนจริง ซึ่งทำได้ เอาจริงๆ วันนี้มีข่าวเรื่องค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศได้ราคาดี ถ้าลดลงมาหน่อยในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ก็น่าจะได้ และการคุยกับภาคเอกชน บริษัทน้ำมัน โรงกลั่น ว่าลดต้นทุนได้ทางไหนอย่างไร ค่าการตลาดลดได้ไหมชั่วคราว ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

การบริหารงานในภาวะวิกฤต กับ ภาวะปกติทั่วไป ต่างกัน รัฐบาลต้องโฟกัสที่ความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลจะมาบอกว่าเรื่องราคาน้ำมันนี่จะให้ประชาชนมาช่วยแบกคนละครึ่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอยู่ได้ ประชาชนอยู่ไม่ได้