ส่องบทบาท ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ Chief Strategist ผู้อาสาอยู่เบื้องหลัง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”
หญิงแกร่งหนึ่งเดียวทีมงานชัชชาติ ดร.ยุ้ย หรือ “ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดออกปากไม่ขอรับตำแหน่งบริหารใดๆ
ใน กทม.
ตั้งแต่ตัดสินใจเริ่มลุยลงพื้นที่ ผ่านมา กว่า 2 ปี ดร.ยุ้ย คือ ผู้ที่ทำงานหนักเข้มข้นไม่ยิ่งหย่อน
ไปกว่าใคร พร้อมยืนกรานที่จะเป็นเบื้องหลังทำหน้าที่สานต่อนโยบายกว่า 200 เรื่องในฐานะ Chief Strategist หรือที่ปรึกษายุทธศาสตร์
สำหรับบทบาทของ Chief Strategist หน้าที่หลัก คือ ผลักดันทุกนโยบายที่ให้กับประชาชนไว้ออกมาให้เป็นผลสำเร็จ ดูแลด้านงบประมาณ เน้นการเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายของกรุงเทพฯ ที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของการบริหารจัดการเพื่อประชาชนในทุกมิติ
แม้ว่า “ชัชชาติ” จะย้ำเสมอว่านโยบาย 214 เรื่อง ไม่มีเรื่องไหนต้องทำก่อน ทั้งหมดต้องทำไปพร้อมๆ กัน แต่ปัญหาเร่งด่วนหนักอกของคนกรุงที่มาจ่อคอหอยทีมผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ หนีไม่พ้น 3 เรื่องหลัก
คือ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาความปลอดภัยทางถนน และ ปัญหาปากท้องของประชาชน
จากปัญหาเหล่านี้ เมื่อเข้าไปสแกนนโยบายก็จะพบหลายข้อที่จะมาตอบโจทย์ อย่างปัญหาน้ำท่วม นโยบายที่ต้องเดินเครื่องจากนี้ อาทิ การขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กิโลเมตร การกวดขันจับ/ปรับ การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างจริงจัง ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และคลองสายหลัก เซนเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอ
ขอกุญแจ ไม่เช่นนั้นคงไม่ทันการณ์กับความทุกข์ร้อนของประชาชน
ขณะที่ปัญหาความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ กรุงเทพฯ ต้องสว่าง ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ใช้ CCTV กวดขันวินัยจราจร ตรวจสอบและปรับปรุงทางข้ามทั้งกรุงเทพฯ ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ลดความเร็ว ลดความเสี่ยง ในย่านชุมชนและถนนสายรอง กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพทุกถนน ซอย มีทางเดิน-ปั่นสะดวก เชื่อมขนส่งสบาย ลดการใช้รถ แจ้งปัญหาวินฯ ผ่านแพลตฟอร์มฟองดูว์ เป็นต้น
ส่วนปัญหาปากท้องของประชาชน อาทิ ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ Registering street vendors เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ หาพื้นที่ของเอกชน หรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่ หรือ ศูนย์อาหาร ฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน
ทำตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต ทำตลาด กทม. ออนไลน์ ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผ่านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกรุงเทพฯ และ โปร่งใส ไม่มีส่วย เป็นต้น
ต้องจับตากันต่อว่าในอีก 4 ปีนับจากนี้ สิ่งที่ตั้งเป้าไว้ เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในกรุงเทพฯ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง กรุงเทพมหานครจะเป็นเวทีสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า
“ดร.ยุ้ย ” และ ทีมยุทธศาสตร์จะต้องเผชิญกับความท้าท้าย ด้วยความแข็งแกร่งเพียงใด