จากคดี “ชิมไปบ่นไป” สู่ ข้อหาหมิ่นราชการ

เป็นอีกข้อกล่าวหาที่ฮือฮา หลังชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไปด้วยคะแนนกว่า1,386,215 คะแนน ถูกกล่าวหาด้วย 2 ข้อหาหลัก คือ กรณีทำป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋า เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ และเรื่องการพูดในลักษณะดูถูกระบบราชการ

กรณีแรกการร้องว่าการทำป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋า เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่

เป็นคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนสอบสวนนายชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อทำ “กระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน” อันเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่

กรณีที่สองเรื่องการพูดในลักษณะดูถูกระบบราชการ

เป็นคำร้องของหน่วยงานอื่นซึ่งไม่ระบุ โดยร้องว่า ผู้สมัครมีประเด็นในเรื่องการพูดในลักษณะดูถูกระบบราชการ โดยอ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงานเพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และยังไม่สามารถระบุได้ว่าตรงกับข้อกฎหมายใด แต่ข้อเป็นหนึ่งในสำนวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งรับไว้ร้องเรียน

สำนวนร้องเรียนที่ กกต.กทม. เสนอไป กกต.กลางจะพิจารณาว่าเกี่ยวข้องทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ตามที่มาตรา 17 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 กำหนด หากพบว่ามีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมก็จะยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งโดยจะต้องไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป ซึ่งมีเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเรื่องร้องเรียนพิจารณาแล้วไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตก็จะประกาศผลการเลือกตั้ง

สำหรับกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” ถือเป็นอีกหนึ่งแห่งความหวังของคนกรุงในการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องซึ่งในบางตอนของการลงพื้นที่ก็มีการเรียกร้องให้นายชัชชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่นายชัชชาติปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

ปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่รับรองนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังวันประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 จึงเป็นที่น่ากังวลว่า คดีดังกล่าว จะนำไปสู่คดี “ชิมไปบ่นไป” กรณีปัญหาจ้างแรงงานกับจ้างทำของ ของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ทำให้ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในปี 2551 หรือไม่

สำหรับนายสมัคร สุนทรเวช เริ่มต้นด้วยการถูกร้องโดย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมคณะ 40 ส.ว. ในขณะนั้น ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)

โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีนี้ ประเด็นว่า ผู้ถูกร้อง (สมัคร) เป็นลูกจ้าง บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 กำหนดเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรมซึ่งยากในการตัดสินใจทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ

เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ฐานขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงขัดกันในลักษณะที่ประโยชน์ส่วนตัว จะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ

ซึ่งตามข้อเท็จจริงได้จากการไต่สวน “ผู้ถูกร้อง” เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ให้กับ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานที่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้กระทำร่วมกันกับผู้ถูกร้องมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี โดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เพื่อมุ่งค้าหากำไร ไม่ใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และภารกิจเมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267

ซึ่งท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่า “ผู้ถูกร้อง” กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของ “สมัคร” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

คดี “ชิมไปบ่นไป” จึงนำไปสู่การหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพียงชั่วขณะของอดีตผู้ว่าฯ กทม. ล้านคะแนนคนแรก อย่างสมัคร ซึ่งเป็นที่น่าลุ้นว่าคดีสุดแปลกอีกสองคดีของชัชชาติจะล้มเก้าอี้ว่าที่ผู้ว่าฯ ได้หรือไม่ ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ผู้ร้อง “ผมทำตามหน้าที่ และผมไม่สนใจ 1.38 ล้าน แต่อย่างยกก่อนของคุณสุขุมพันธุ์ได้รับ 1.2 ล้าน แต่พอ คสช. เข้ามาปลดคุณสุขุมพันธุ์ออกไป ผมไม่เห็นเอฟซีคุณสุขุมพันธุ์ออกมาร้องแรกแหกกระเฌอชักดิ้นชักงอเป็นไส้เดือนเหมือนของคุณชัชชาติเลย”

ที่มา

– กรุงเทพธุรกิจ, “เทียบคดี ‘สมัคร-ประยุทธ์’ ชี้ชะตารัฐบาล”, https://www.bangkokbiznews.com/politics/909233

– กรุงเทพธุรกิจ, “ชัชชาติ” ไม่หวั่น 2ปม ร้อง เผย แจง “กกต.” หมดแล้ว สบายๆ, https://www.bangkokbiznews.com/politics/1007023

– ฐานเศรษฐกิจ, “ชัชชาติระทึก กกต.ถกจันทร์หน้าถูกร้องเรียนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 เรื่อง”, https://www.thansettakij.com/politics/526741