เมื่อไม่นานมานี้ อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์วิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ทีวีรัฐสภา นำเสนอแนวคิด “ความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่และกระบวนการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง ระบุว่า คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเมื่อเราเผชิญหน้ากับความรุนแรง วิธีการที่จะเอาชนะความรุนแรงได้ก็คือการใช้ความรุนแรงที่เหนือกว่า เช่น เราจะต่อสู้กับศัตรูที่มีเรือดำน้ำอยู่ 3 ลำ เราก็จะต้องมีอยู่ 5 ลำ เป็นต้น
“แต่จากการวิจัยทั่วโลกพบว่า เมื่อมีการใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายตรงข้าม หรือกระบวนการทางสังคมที่ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง มันจะเกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง โดยทำให้ความชอบธรรมของระบบนั้นอ่อนแอลง เปลี่ยนมติสาธารณะให้ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เมื่อชนชั้นนำใช้ความรุนแรงมากเท่าไหร่ พลเมืองหรือผู้ที่ไม่มีเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดๆจะเกิดความไม่พอใจมากขึ้น”
อุเชนทร์ ยก 3 ปัจจัยหลัก ที่จะทำให้กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมชนะได้
1. สามารถรักษาการระดมมวลชน หรือการเคลื่อนไหวในระดับสูงได้ ถ้าถูกปราบปรามแล้วหยุดเคลื่อนไหวทันที นั่นหมายความว่าแพ้
2. การแปรพักตร์ของชนชั้นนำหรือข้าราชการพลเรือน หรือฝ่ายรัฐเอง เพราะถ้าไม่มีคนเหล่านี้ รัฐก็จะไม่มีเครื่องมือในการเอาชนะฝ่ายต่อต้าน
3. การตัดการสนับสนุนจากต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายรัฐ
เขา บอกว่า แต่สิ่งสำคัญคือ คนในกระบวนการเคลื่อนไหวต้องเข้าใจหลักการไม่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังต้องมีการวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ต้องคิดวางแผนว่าเมื่อเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมา, เมื่อมีการปราบปรามจะตอบสนองอย่างไร เพราะการชุมนุมโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้าหรือสะเปะสะปะ จะทำให้ผู้ชุมนุมไม่รู้ว่าจะรับมือกับการปราบปรามอย่างไร
เมื่อปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณะ คำถามคือควรที่จะกระตุ้นให้ฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรงด้วยการปราบปรามหรือไม่ อุเชนทร์ กล่าวว่า เราไม่ควรที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการปราบปราม เพราะจะทำให้นักกิจกรรมแปลกแยกไปจากประชาชน จะทำให้ตำรวจโหดร้ายป่าเถื่อนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะทำให้ผู้ชุมนุมเองมีความโหดร้ายมากขึ้นด้วย ที่สำคัญคือ มีความเสี่ยงที่จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน
“เพราะผู้ชุมนุมต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชน จริงๆเราไม่จำเป็นต้องไปเผชิญหน้า เพราะการปราบปรามมันจะนำไปสู่ความสูญเสียของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง”