89 ปีประชาธิปไตยกับผู้นำฝ่ายค้านฯ เพียง 9 คน

นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา มีผู้คนมากหน้าหลายตาสลับปรับเปลี่ยนเข้ามาบริหารประเทศ มีทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนฯ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ปัจจุบันประเทศมีคณะรัฐบาลเป็นชุดที่ 62 และมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นชุดที่ 25 มีผู้นำรัฐบาลมาแล้ว 29 คนและมีผู้นำฝ่ายค้าน 9 คน สถิติดังกล่าวสะท้อนถึงการให้ความสำคัญที่ฝ่ายบริหารมากกว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบอบซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้ครรลองที่ควรจะเป็นของประชาธิปไตยหดหายไปและนั่นชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยตลอดระยะเวลา 89 ปีที่ผ่านมา

แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ผู้เขียนยกคำคนการเมืองสะท้อนความคิดของนักการเมืองในยุคประชาธิปไตยที่มองฝ่ายค้านเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ของการเมืองมาไว้อธิบายภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างวลีที่ว่า…

“เป็นฝ่ายค้านมันอดอยากปากแห้ง” คำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรี เติ่งเสี่ยวหาร “บรรหาร ศิลปอาชา” สะท้อนภาพหลากหลายรูปแบบให้ขบคิดชะรอยการเมืองไทยการเป็นฝ่ายค้านนั้นอาจอดอยากปากแห้งเสียจริงเพราะในบางครั้งการใช้อำนาจหรืองบประมาณในทางการเมือง ผู้แทนฯ ฝั่งรัฐบาลจะได้งบประมาณลงไปในท้องที่ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าผู้แทนฯ ฝ่ายค้าน อีกทั้ง การตรวจสอบหรือบทบาทในหน้าสื่อหน้าสังคมอาจไม่มากนักหากเป็นผู้แทนที่ไม่ได้โดดเด่นเสียทีเดียว

คำพูดดังกล่าวจะสะท้อนผู้พูดและจริงหรือไม่นั้น คำตอบอาจอยู่ในประวัติศาสตร์การเป็นผู้นำฝ่ายค้านของพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นได้ เพราะ “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคที่มีผู้นำฝ่ายค้านคนแรกและยาวนานที่สุดนับแต่มีการแต่งตั้งตำแหน่งนี้และสมัยมีหน้าที่ก็แสดงบทบาทตรวจสอบรัฐบาลชนิดที่ว่างัดทุกทางที่สามารถทำได้เพื่อกระตุกต่อมความสนใจจากประชาชน

ผู้นำฝ่ายค้านคนแรกประเดิมตำแหน่งด้วย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตำแหน่งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีการสถาปนาตำแหน่งนี้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 และท่านในฐานะ หม่อมพี่ มารับทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลหม่อมน้อง “คึกฤทธิ์ ปราโมช” โดยเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 ครั้ง โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 22 มี.ค. 2518 – 12 ม.ค. 2519 คิดเป็นระยะเวลา 9 เดือน 23 วัน และถือเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่สั้นที่สุดนับแต่มีมา

หลังการยุบสภาฯ การแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นกิจจะลักษณะไม่เกิดขึ้นมากนักด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและการยึดครองอำนาจของทหารและการแต่งตั้งหลังจากยุคก่อนหน้ามีมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ปี 2526 พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยรับไม้ต่อเป็นคนที่ 2 โดยดำรงตำแหน่ง 2 ครั้ง คือในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2526 – 1 พ.ค. 2529 และครั้งที่สองในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2535 – 7 พ.ค. 2537 รวมเวลาทั้งสิ้น 4 ปี 1 เดือน 18 วัน โดยมีผลงานการเสนอตรวจสอบรัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 ครั้ง ปรากฏผลผ่านระเบียบวาระ 1 ครั้ง ญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง

ผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 3 พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ดำรงตำแหน่ง 4 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2535 – 16 มิ.ย. 2535 และอีก 3 ครั้งในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ครั้งที่สอง ตั้งแต่ 26 พ.ย. 2540 – 2 มิ.ย. 2541 และ 2 ก.ย. 2541 – 27 เม.ย. 2542 และ 12 พ.ค. 2542 – 30 เม.ย. 2543 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือน 23 วัน มีผลงานการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง

ผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 4 บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ต้องมารับไม้ต่อหลังพล.อ. ประมาณ อดิเรกสาร ลาออกจากหัวหน้าพรรค เจ้าของวลี “เป็นฝ่ายค้านมันอดอยากปากแห้ง” มีบทบาทในขณะดำรงตำแหน่งผ่านการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 ครั้ง ซึ่งญัตตินี้เป็นการเปิดโปงการทุจริตกรณีการออกเอกสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 และทำให้รัฐบาลยุบสภาฯ ในเวลาต่อมา สำหรับบรรหารดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2537 – 19 พ.ค. 2538 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 11 เดือน 23 วัน

ผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 5 ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 2 ที่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ โดยชวน ดำรงตำแหน่ง 3 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2538 – 27 ก.ย. 2539 ครั้งถัดมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2539 – 8 พ.ย. 2540 ครั้งที่สาม ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2544 – 3 พ.ค. 2546 มีผลงานการตรวจสอบรัฐบาลผ่านการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ครั้ง รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 4 ปี 3 เดือน 6 วัน

ผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 6 บัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 3 ที่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ ต่อจากชวน หลีกภัย หลังจากลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารฯ โดยบัญญัติดำรงตำแหน่งต่อจากชวนในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2546 – 5 ม.ค. 2548 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 7 เดือน 16 วัน และมีผลงานการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง

ผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 7 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 4 ที่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านต่อจากบัญญัติภายหลังการแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งในปี 2548 อภิสิทธิ์เข้ามาดำรงตำแหน่งในวันที่ 23 เม.ย. 2548 – 23 ก.พ. 2549 ซึ่งนั่นถือเป็นครั้งแรกในการชิมลางการเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น และครั้งที่สองในวันที่ 27 ก.พ. 2551 – 17 ธ.ค. 2551 ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก่อนจะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งลงหลังจากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล และครั้งที่สามในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 – 9 ธ.ค. 2556 มีผลงานการตรวจสอบรัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5 ครั้ง รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 4 ปี 6 เดือน 15 วัน และถือเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 8 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านและถือเป็นคนแรกของการมีผู้นำฝ่ายค้านในนามพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่ง 2 ครั้ง ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2562 – 26 ก.ย. 2563 โดยครั้งแรกสิ้นสุดลงหลังจากเขาลาออกจากหัวหน้าพรรคและกลับเข้ามาตำแหน่งครั้งที่ 2 ภายหลังได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคต่ออีกรอบ โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2563 – 28 ต.ค. 2564 มีผลงานการตรวจสอบรัฐบาลผ่านเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 2 ปี 4 วัน

ผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 9 ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนปัจจุบันและคนที่ 2 ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ภายหลังสมพงษ์ อดีตหัวหน้าคนก่อนหน้าลาออกและเขาเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยท่ามกลางความหวังและการรีแบรนด์พรรคให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นภายใต้สโลแกน “พรุ่งนี้ เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” นับเป็นความหวังและความท้าทายของรัฐบาลเพราะชลน่านมีทั้งลีลาในการอภิปรายและลูกล่อลูกชนในการรับมือกับกลเกมของรัฐบาลในสภาผู้แทนฯ ได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับคนก่อนหน้า ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนว่าเป็น “ขนมจีนไร้น้ำยา” หรือแม้แต่บทบาทขาดหายจนเป็นฉายาผู้นำฝ่ายค้านที่ว่า “สุทิน คลังแสง?”

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแม้จะถูกปรามาสด้วยคมคำต่างๆ ว่าไม่สามารถเอาชนะคะคานได้ แสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอไปก็เพียงแค่ลมปาก ซ้ำร้ายถ้ามีความคิดเห็นมากอาจถูกอำนาจเหนือกว่ากดทับลงไปอีก แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการเป็นฝ่ายค้านหรือการเป็นผู้นำฝ่าย แต่การเป็นฝ่ายค้านที่ผ่านมาและดูเหมือนคนจะยอมรับนั่นคือ การมีบทบาทตรวจสอบรัฐบาลอย่างจริงจัง ไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจเหนือกว่า รวมทั้งการใช้กลยุทธ์อันจำกัดของฝ่ายค้านที่มีอยู่ในการตรวจสอบการทำหน้าที่ หนึ่งในการเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่สังคมคาดหวังนั้นคือ การใช้วาทศิลป์ที่ประชาชนฟังแล้วเข้าใจง่ายสามารถโน้มน้าวและสรุปขมวดทุกปมปัญหาไว้ในการอภิปรายได้อย่างอยู่หมัด หากเป็นได้ฝ่ายค้านจะมีบทบาทและเป็นสปอร์ตไลท์นำทางสู่ชัยชนะทางการเมืองได้ไม่ยาก

ที่มา

สุพิศ หล้าคำภา(2550), “บทบาทผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”,วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. คณะรัฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุรวิศ วีรวรรณ(2551), “เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง”, ผู้จัดการออนไลน์,

https://mgronline.com/daily/detail/9510000000699

หอสมุดรัฐสภา, “สรุปผลงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”, คลังสารสนเทศของฝ่ายนิติบัญญัติ, https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/433473

.

The standard,”ย้อนดูผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ หัวหอกตรวจสอบรัฐบาล”, https://thestandard.co/opposition-leader-in-the-council/