ใครเป็นใคร “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในกรรมการสมานฉันท์

แต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการปรองดองสมานฉันท์ ในคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มี “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ซึ่งมีทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย

1) เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2) ภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3)ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ 4) ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใครเป็นใคร มาจากไหน

.

เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ ครูแดง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เป็นนักพัฒนาสังคม หลังเรียนจบได้เริ่มบทบาท “ครูดอย” ที่หมู่บ้านปางสา ในลุ่มแม่น้ำจัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนชาติพันธุ์ลีซู ลาหู่ จีนยูนนาน อาข่า และเมี่ยน กระทั่ง ปี 2528 ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ดำเนินงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ส่งเสริมด้านการศึกษา เกษตรยั่งยืน

ปี 2545 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังการรัฐประหารในประเทศไทย โดยเป็นตัวแทนของกลุ่มการพัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมคุณธรรม องค์กรแรงงาน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์

ต่อมาในการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2557 เธอได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง กระทั่งในปี พ.ศ. 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

.

ผศ.ดร. ภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นักวิชาการหนุ่ม มาพร้อมผลงานวิจัยถอดบทเรียนทางการเมืองเยอะแยะมากมาย เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดอง : กรณึศึกษาในต่างประเทศ โดยสถาบันพระปกเกล้า

ถอดบทเรียนกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองในต่างประเทศนั้น สามารถบัญญัติในรูปแบบใดได้บ้าง ควรมีการบัญญัติกลไกเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นกลไกเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรเพื่อค้นหาความจริง การเยียวยาผู้เสียหายจากความรุนแรง การคัดกรองผู้กระทำความผิดที่มูลเหตุจูงใจทางการเมือง ตลอดจนกล่าวถึงกลไกเกี่ยวกับการจัดการความทรงจำ ทั้งนี้ เพื่อนำไปเป็นบทเรียนในการจัดทำบทบัญญัติว่าด้วยการสร้างความปรองดองที่เหมาะสมในประเทศไทย

.

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ปริญญาตรี นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา

เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อาทิ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เป็นต้น

.

ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักสื่อสารสังคม มีงานวิจัยด้านการสื่อสารหลากหลาย เช่น การสื่อสารรณรงค์บนพื้นที่ออนไลน์ Change.org พบว่าลักษณะประเด็นสังคมที่ปรากฏบนพื้นที่ออนไลน์ Change.org แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเด็นสาธารณะ และปัญหาระดับบุคคล โดยนักรณรงค์ใช้พื้นที่ออนไลน์ Change.org เพื่อสื่อสารใน 5 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 1) ให้ข้อมูล 2) อัปเดตข่าวสาร 3)โน้มน้าวให้คล้อยตาม 4) ขอบคุณ และ 5) ประกาศชัยชนะ

ซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) หน่วยงานในการปกครองของรัฐ 2) องค์กรเอกชน และ 3)องค์กรเพื่อสังคม โดยผลในเชิงการเปลี่ยนแปลงมี 2 รูปแบบ ได้แก่ แคมเปญที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน และแคมเปญที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย

.

จับตา ปรองดอง 2021 ปาหี่หรือทางออก

#newsxtra#เกาะติดปรองดอง