ขึ้นชื่อว่า “กีฬา” ย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้เป็นเรื่องธรรมดาตามกฎกติกาการแข่งขัน และเหรียญรางวัลก็ไม่ได้เป็นสิ่งการันตีความสามารถทั้งหมดของนักกีฬาคนหนึ่งคนใด แน่นอนว่าผู้ชนะย่อมดีใจ เพราะความพยายามของตนเองที่เฝ้าเพียรฝึกซ้อม เคี่ยวกรำฝีมืออย่างหนักนั้น ได้สำเร็จผล ส่วนผู้แพ้ก็ต้องพบกับความเสียใจ ผิดหวังกับสิ่งที่ตนเองพยายามทำแต่ไม่สมหวังได้ดั่งใจ
สิ่งที่แฟนกีฬาอย่างเราท่าน รู้สึกเสียดายแทนเมื่อเห็นนักกีฬาความหวังเหรียญทองของไทยเราพ่ายแพ้ ตกรอบไปทีละคน ๆ ยิ่งไปกว่านั้น น้ำตาของนักกีฬาเมื่อร้องไห้เสียใจ เพราะไม่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ และนำเหรียญทองกลับมาฝากเป็นของขวัญให้พวกเราได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราปวดใจยิ่งกว่า
“รัชนก อินทนนท์” หรือ “น้องเมย์” ถือเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย เป็นความหวังสุดท้ายในกีฬาประเภทนี้ของการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 เมื่อเธอต้องปะทะกับคู่ต่อสู้อย่าง ไต้ จื่อ อิง นักกีฬาแบดมินตันจากไต้หวัน มือวางอันดับ 1 ของโลกคนปัจจุบัน
ในการแข่งขัน น้องเมย์ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเธอสามารถเอาชนะไปได้ก่อนในเซ็ตแรก จังหวะที่เธอพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อพลิกเกมทำคะแนนนำคู่ต่อสู้ในเซ็ตสุดท้าย ทำให้ผู้ชมทางบ้านอย่างเราเอาใจช่วยอย่างสุดตัว ประหนึ่งว่าเราเองได้นั่งเชียร์อยู่ติดขอบสนาม แต่เธอก็ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของ ไต้ จื่อ อิง ได้ จนพ่ายแพ่ไป 1-2 เซ็ต ตกรอบ 8 คนสุดท้าย ช็อตบีบหัวใจของแฟนกีฬาไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นคราบน้ำตาของน้องเมย์ ที่ระบายความรู้สึกอัดอั้นจนทำให้เรารู้สึกตามไปด้วยว่า เธอนั้นได้พยายามทำทุกวิถีทางอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อเอาชนะการแข่งขัน จนผู้ชมหลายคนได้แสดงออกในโลกโซเชียล
“ไม่เป็นไรนะ เธอทำดีที่สุดแล้ว ครั้งหน้าค่อยมาสู้กันใหม่”
ด้วยหวังว่าข้อความที่ดี รวมถึงกำลังใจต่าง ๆ จะส่งผ่านไปถึงให้น้องเมย์ได้รับรู้
อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในแง่ของความล้มเหลว ผิดหวังเสมอไป แต่ความพ่ายแพ้ของนักกีฬาบางครั้ง กลับสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้ อย่างกรณีของ ระนะตันเก กรุณานันท์ (Ranatunge Karunananda) นักกีฬาวิ่ง ทีมชาติศรีลังกา ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1964 ณ ประเทศญี่ปุ่น เขาลงแข่งขันในการวิ่งระยะไกล 5,000 เมตร กับ 10,000 เมตร ไม่มีใครคาดหวังว่านักวิ่งจากศรีลังกาผู้นี้จะได้รับเหรียญรางวัล
โดยในการแข่งขันวิ่งระยะทางไกล 10,000 เมตร กรุณานันท์ วิ่งจ็อกกิ่งตามจังหวะความเร็วของตัวเอง เมื่อผ่านระยะทางหนึ่งกิโลเมตรแรก เขาก็พบว่า ตนเองถูกคู่แข่งรายอื่นวิ่งทิ้งห่างไปแล้ว และเวลาผ่านไป เขายังถูกนักวิ่งชั้นนำอย่าง บิลลี่ มิลส์ ของทีมชาติสหรัฐอเมริกา วิ่งแซงน็อครอบไปได้ถึง 4 รอบ จนเข้าเส้นชัย ซึ่งทำให้เขาสามารถยุติการวิ่งได้ทันที เพราะถือว่าแพ้แล้ว
แต่เขาก็ยังคงวิ่งต่อไป วิ่งไปด้วยความเร็วของตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนผู้ชมในสนามกว่า 70,000 คน เริ่มสังเกตเห็น และประหลาดใจว่าทำไมเขาจึงไม่หยุดวิ่ง แล้วจะพยายามวิ่งไปเพื่ออะไร ในเมื่อวิ่งไปถึงเส้นชัยอย่างไรก็ต้องเป็นผู้แพ้อยู่ดี พร้อมส่งเสียงหัวเราะเยาะกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ แต่พอเขาได้วิ่งไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 3 รอบ จึงจะครบระยะทาง 10,000 เมตร ผู้ชมเริ่มเปลี่ยนความคิดและเปล่งเสียงเชียร์ออกมาจนดังกึกก้องไปทั่วสนาม เพื่อเอาใจช่วยให้เขาวิ่งให้ครบระยะทางจนเข้าเส้นชัย
ในท้ายที่สุด เขาได้วิ่งจนครบระยะทางและเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย โดยนักข่าวท้องถิ่นได้กล่าวถึงคำพูดของกรุณานันท์หลังจบการแข่งขันว่า
“จิตวิญญาณของโอลิมปิก ไม่ได้มีไว้เพื่อชัยชนะ แต่มีไว้เพื่อให้มีส่วนร่วม ดังนั้น ผมจึงมาที่นี่เพื่อมีส่วนร่วมใน 10,000 เมตร และวิ่งให้ครบตามรอบของตัวเอง”
และเขาได้กลายเป็นตำนานของผู้แพ้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกีฬาโอลิมปิก นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ชี้เราได้เห็นบางอย่างที่อยู่เหนือชัยชนะและเหรียญรางวัล นั่นคือการชนะใจตัวเอง และมีส่วนร่วมกับการแข่งขัน พยายามอย่างสุดกำลัง เพื่อให้ตนเองกลายเป็นส่วนร่วมกับการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
แพ้หรือชนะ มันอาจไม่สำคัญเท่ากับโอกาสที่ได้มายืนในจุดนี้ มีส่วนร่วมกับการแข่งขัน และแสดงให้เห็นถึงความพยายามของเราที่ไม่ได้มีน้อยไปกว่าใคร ความเป็นนักสู้ที่ไม่เคยท้อถอยแม้จะพบกับคู่ต่อสู้ที่เก่งกาจ ต่อให้ต้องล้มลงอีกสักกี่ครั้ง พ่ายแพ้อีกสักกี่หน เราจะกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งเสมอ เพราะความพ่ายแพ้คือกุญแจสู่ชัยชนะ
ผู้เขียน: Topping
The POP LOVER PODCAST
ที่มาภาพ : กองประชาสัมพันธ์ กกท.
แหล่งอ้างอิง
1.https://theolympians.co/2020/10/18/the-biggest-loser-ranataunga-karunananda-of-sri-lanka-shows-japan-that-winning-isnt-everything/
2.https://en.wikipedia.org/wiki/Ranatunge_Karunananda
3.https://www.siamsport.co.th/olympic2020/news/view/245788