แม้ตั้งมาเป็นเวลาร่วม 2 เดือน แต่ “กรรมการสมานฉันท์” กลับเงียบหายไปจากหน้าสื่อ ไม่เห็นว่าจะมีความคืบหน้าดำเนินการเรื่องใดๆเป็นชิ้นเป็นอัน
ทามกลางวิกฤตการเมืองไทย ที่ร้อนระอุขึ้นทุกขณะ นับตั้งแต่ผู้ชุมนุมหลายคนถูกจับเข้าคุก กระทั่งต่อมามีการเดินขบวนได้ต่อต้านรัฐบาลบ้างประปราย เหมือนรอวันปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลามาถึง
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีต ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า ความยากที่สุดของการบริหารสถานการณ์ความขัดแย้ง อยู่ที่การเชิญชวนให้ผู้มีความขัดแย้งกลุ่มต่างๆ มานั่งโต๊ะเจรจากัน แต่สิ่งที่สามารถทำได้ทันทีคือ การที่คณะกรรมการสมานฉันท์เดินไปคุยกับกลุ่มต่างๆด้วยตัวเอง ดังเช่นที่ผ่านมาตนก็คุยกับนายปิยบุตร แสงกนกกูล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคก้าวไกล และการพูดคุยกันมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี
“โดยทั่วไปเวลาที่คนทะเลาะกัน เขาจะไม่เชื่อในการเจรจา แต่เชื่อมั่นในศาล ว่าจะได้รับความเป็นธรรม โดยลืมไปว่าศาลมีหน้าที่เพียงตัดสิน มีถูกผิดได้ ดังนั้น กระบวนการไกล่เกลี่ยจึงมีความสำคัญ โดยคนกลางนี้มีหน้าที่เอื้อให้ทั่ง 2 ฝ่ายมีอำนาจเท่าๆกัน ไม่ได้เข้ามาตัดสิน”
ศ.นพ.วันชัย กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยเกิดขึ้นมายาวนาน ไม่มีทางที่จะจบลงให้ 1-2 วัน เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งแล้ว 13 ชุด ซึ่งที่สุดแล้วก็จบที่จัดพิมพ์รายงานผลการศึกษา
“ผมว่าเรื่องว่าด้วยความปรองดอง น่าจะมีสถาบันขึ้นมาดำเนินงาน แม้รัฐบาลจะหมดวาระไป แต่สถาบันนี้ยังอยู่ โดยเป็นสถาบันให้ความรู้ตั้งแต่เป็นนักเรียน ดีกว่าการหาคำตอบว่าใครถูกผิด” ศ.นพ.วันชัย กล่าว
และว่าปัญหาความขัดงแย้งในสังคมไทยที่ยังคงหมักหมมมายาวนาน เพราะยังไม่มีสถาบันปรองดอง ขึ้นมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ซึ่งถ้ามีสถาบันฯ ก็จะสามารถปลุกฝังเยาวชนตั้งแต่เด็กเลยว่า เมื่อมีปัญหาความขัดแย้ง จะต้องหันหน้าพูดคุยกัน
กรรมการสมานฉันท์รายนี้ เห็นอย่างนั้น