ความขัดแย้งในสังคมไทยระลอกใหม่ ยังไม่มีวี่แววของทางออก
พลังของผู้ชุมนุมนับวันยิ่งจะถดถอย
ขณะที่ฝ่ายรัฐ เพิ่มความเข้มข้นในการใช้อำนาจเพื่อควบคุมให้อยู่หมัด
บรรยากาศการเมืองในวันนี้จึงเหมือนการรอการปะทุ หรือจุดแตกหักร้ายแรง
ก่อนหน้านี้ รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ร่วมรายการ Thai PBS Podcast มองบรรยากาศการชุมนุมของเยาวชนว่า โดยต้องย้อนไปตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง 2475 เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นยังคลุกลุ่นมาถึงทุกวันนี้ เรื่องราว ปัญหาต่างๆ ยังติดค้างอยู่ ยังจัดสรรยังไม่ลงตัว
เขา มองว่า สำหรับในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นตัวละครของความขัดแย้งที่สามารถเปรียบเหมือนมหากาพย์ 3 ก๊ก
ก๊กที่ 1 อำนาจเก่า ซึ่งตอนนี้บารมีเปล่งปลั่งเรืองรอง
ก๊กที่ 2 ฝ่ายอำมาตย์ ที่คิดว่าการบริหารประเทศที่ดีที่สุดคือการควบคุม สั่งการ
ก๊กที่ 3 นักการเมือง ซึ่งมีความหลากหลาย
รศ.โคทม เล่าต่อไปว่า นอกจาก 3 ก๊กดังกล่าว ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหว โดยเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง เยาวชน รวมถึงชนชั้นกลางซึ่งแสดงบทบาทมาตั้งแต่ปี 2535 , 2548
ส่วนการชุมนุมของเยาวชนปัจจุบัน มองว่ายังไม่ใช่ชนชั้นกลาง แต่เป็นทายาทของชนชั้นกลาง ที่รอการเจริญเติบโตเป็นชนชั้นกลาง หรือชนชั้นนำก็ได้
“หากต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย 3 ก๊กต้องคุยกันอย่างจริงจัง ก๊กที่ 1 ยกไปอยู่เหนือการเมืองจริงๆได้ไหม ก๊กที่ 2 เป็นแขน ขา กลไกของประเทศ ขออย่างเดียวท่านทำตามอำนาจหน้าที่ของท่าน ก๊กที่ 3 ไม่ค่อยจะพัฒนา เพราะไม่มีโอกาสต่อเนื่อง จะเรียกว่าด้อยโอกาสก็ได้ ส่วนการเคลื่อนไหว ก็ปล่อยให้เคลื่อนไหวไป” อาจารย์โคทม ว่าอย่างนั้น
รศ.โคทม มองความเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนปัจจุบันว่า การชุมนุมเป็นการแสดงออกเพื่อเป็นกรณีศึกษาของประชาชน ดังจะเห็นจากการชุมนุมยุคปัจจุบัน ที่กล้าหยิบยกประเด็นใหม่ๆขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ แต่ไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้ว่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ 3 ก๊ก