นโยบาย 66/23 กับการพลิกโฉมความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของสังคมไทย : บทเรียนนโยบายปรองดองที่ควรเรียนรู้

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง และความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้สังคมไทยติดหล่มอยู่ในวังวนปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน รวมไปถึงระหว่างภาคประชาชนด้วยกันเองด้วย

ความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะในอดีตเราก็เผชิญปัญหาความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ที่หนักหนาสาหัสมาแล้ว ถึงขั้นที่ว่ามีการจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กันกับภาครัฐ

ใช่แล้วครับ นั่นคือช่วงปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงยุคสงครามเย็น ที่ประชาชนบางกลุ่มมองว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ควรถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อความเท่าเทียมและสวัสดิการที่ดีของประชาชนทุกคน

ช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวคิดเหล่านี้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อผลักดันความคิดและความเชื่อของตนเอง ซึ่งในเวลานั้นการเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่ตัดสินใจนำเสนออุดมการณ์คอมมิวนิสต์กลายเป็นอาชญากรแห่งรัฐ และถือเป็นเป็นภัยทางด้านความมั่นคงที่ต้องถูกขจัดออกไปในสายตาของภาครัฐ

สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการต่อสู้และจับกุมประชาชนจำนวนมาก นำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างภาครัฐและขบวนการคอมมิวนิสต์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เราจึงอาจเรียกช่วงเวลานั้นว่าเป็นการทำสงครามภายในประเทศระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งกินระยะเวลาหลายปี

จุดเปลี่ยนสำคัญของประเด็นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จนเกิดเป็นแนวนโยบายสร้างความปรองดองระหว่างประชาชนที่นิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์และภาครัฐเกิดขึ้นจากความพยายามเปลี่ยนมุมมองของรัฐ และความพยายามหันมาใช้แนวทางทางการเมืองนำการทหาร

ในปี 2523 รัฐบาลไทยนำโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงนาม“คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์” หรือที่รู้จักอย่างย่นย่อว่า “นโยบาย 66/23”

สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือการอาศัยหลักการ “การเมืองนำการทหาร” ในการต่อสู้กับการแพร่ขยายของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์อันมีความสำคัญ และเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างที่สุดของประเทศให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว

.

จุดเริ่มต้นของแนวคิดการเมืองนำการทหารนี้มีมาตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.เปรม ยังมียศพลตรีในตำแหน่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2517 ช่วงเวลานั้นหลายจังหวัดในภาคอีสานเป็น พื้นที่สีแดง ชาวบ้านไม่ไว้ใจทหาร-ตำรวจ แต่ไว้ใจคอมมิวนิสต์มากกว่า

โดยหนึ่งในทีมงานที่ร่วมวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ด้วยการดึงประชาชนและนักศึกษาที่เป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ให้กลับมาเป็นแนวร่วมของทางราชการ มีชื่อของ พ.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้น) รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้รายชื่อ นายทหารประชาธิปไตย ที่ร่วมผลักดันแนวความคิดดังกล่าวยังประกอบไปด้วย พล.ต.ปฐม เสริมสิน พ.อ.หาญ ลีนานนท์ พ.อ.เลิศ กนิษฐนาคะ พล.ท.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเส้นทางของนโยบายดังกล่าวใช้เวลาบ่มเพาะมาตั้งแต่ปี 2517-2523 หรือเป็นเวลาถึง 6 ปี จึงมีคำสั่งออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

โดยหลักการแล้ว คำสั่งที่ 66/2523 มีแนวคิดหลักสำคัญคือการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชนที่เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้กับภาครัฐ ได้รับการนิรโทษกรรมในคดีการเมืองทั้งหมด และกลับมาใช้ชีวิตตามแบบปกติ ในฐานะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” หรือ ผรท. ได้

สอดคล้องกับสถานการณ์สากลของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง และวิกฤตศรัทธาในขบวนการ ซึ่งเป็นแรงหนุนสำคัญ ที่ทำให้คำสั่งที่ 66/2523 ประสบความสำเร็จในการยุติการต่อสู้นองเลือดของทั้งสองฝ่าย ผ่านการนิรโทษกรรมในปัจจุบัน

“ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” เหล่านี้ ปัจจุบันได้กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งในสังคม บางส่วนก็เป็นผู้นำสำคัญในภาคส่วนต่างๆ ทั้งเอกชน ภาคประชาชน หน่วยงานราชการ รวมถึงพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยด้วย

คำสั่งที่ 66/2523 ในแง่หนึ่ง จึงถือเป็นความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดของหน่วยงานความมั่นคง และความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การเมืองโลก ที่สามารถนำไปสู่ความสงบสุข และการยุติสงครามกลางเมืองในประเทศได้อย่างทันกาล

แนวคิดว่าด้วยการเมืองนำการทหาร รวมถึงการพยายามทำความเข้าใจต่อความเชื่อทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างในช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์การเมือง

การเปลี่ยนมุมมองที่มองประชาชนเป็นศัตรู สู่การทำความเข้าใจพื้นฐานความคิดของประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐส่งผลให้แนวทางปรองดองในช่วงเวลานั้นประสบความสำเร็จ และถือเป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทยในการหลุดออกจากวังวนความขัดแย้งทางการเมือง

จริงอยู่ที่ว่าบริบทการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวกับปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกันมากจนนโยบายข้างต้นอาจไม่เป็นผลในการแก้ไขปัญหาความคัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

แต่บทเรียนสำคัญที่เราควรจะเรียนรู้จากนโยบายการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการแสวงหาแนวทางการปรองดองของคนในชาติในครั้งนั้น ก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย และยังคงสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับปัจจุบันได้เช่นกัน

ประการแรก ต้องไม่มองคนที่เห็นต่างจากรัฐ เป็นศัตรู แต่ต้องมองคนทุกคนไม่ว่าจะคิดเห็นเหมือนหรือต่างจากรัฐว่าเป็นพลเมือง ที่รัฐต้องให้ความสำคัญ และพยายามทำความเข้าใจความเห็นต่างเหล่านั้น เพื่อแสวงหาแนวทางอยู่ร่วมกันได้

ประการที่สองรัฐคือตัวแปรสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาทางการเมือง กล่าวคือการตัดสินใจใด ๆ ของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังกับผู้เห็นต่าง หรือการใช้แนวทางเจรจาเพื่อหาจุดร่วมกัน ถือเป็นหัวใจสำคัญของผลลัพธ์

ประการสุดท้ายเราหลุดออกจากโลกแห่งสงครามเย็นแล้ว ต้องคิดใหม่ มองใหม่ถึงความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อและอุดมการณ์การเมือง รัฐต้องเชื่อว่าแม้คนจะคิดไม่เหมือนกัน แต่สามารถอยู่ด้วยกันได้

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณค่าและบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกินเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว

อ้างอิง

-เปรม ติณสูลานนท์. (2523). นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์, สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523, หน้า 1

-กับแกล้มการเมือง. (28 มีนาคม 2555). เรียกใช้เมื่อ 20 มกราคม 2557 จาก เดลินิวส์: http://www.dailynews.co.th/…/%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8…

-Bunbongkarn, Suchit (2004). “The Military and Democracy in Thailand”. In R.J. May & Viberto Selochan (ed.). The Military and Democracy in Asia and the Pacific. ANU E Press. pp. 52–54.

-บทความ 66/2523 – 2563 โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

#Newsxtra #เกาะติดปรองดอง