ถ้าพูดถึงแผนระยะยาวในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย หลายคนคงจะต้องนึกถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 3 ปี เต็ม ๆ แล้ว ซึ่งยุทธศาสตร์นี้บังคับใช้มา
ต้องบอกว่ายุทธศาสตร์นี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการวางแผนประเทศในลักษณะระยะยาว แม้ว่ายุทธศาสตร์นี้จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการถูกมองเป็นแผนการของรัฐบาลทหารเพื่อควบคุมทิศทางการพัฒนาประเทศ
โดยเฉพาะความยุ่งยากในการแก้ไขแผนยุทธศาสตร์นี้ และการนำเอาการผลักดันยุทธศาสตร์ไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางฝ่ายก็มองว่าความยุ่งยากในการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ รวมไปถึงการระบุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการออกแบบนโยบาย
.
ซึ่งต้องบอกอย่างนี้ว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น ในเชิงรายเอียดนั้นถือว่าเขียนไว้กว้างมาก ๆ ถึงขนาดที่คนอ่านหลายคนที่ได้อ่านยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป้าหมาย และเป้าประสงค์ถูกเขียนอย่างนามธรรมจนจับต้องได้ยาก
.
ด้วยความสำคัญของตัวยุทธศาสตร์ที่เปรียบเสมือนเข็มทิศของประเทศไทย วันนี้ NewsXtra เกาะติดปรองดองเลยขอย้อนกลับมาดูยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกครั้ง เพื่อมองหาแนวทางของประเทศในการสร้างความปรองดองและความสามัคคีแห่งชาติ ภายใต้ความขัดแย้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา
.
น่าสนใจว่าหากเราค้นหาคำว่า “ปรองดอง” ภายใน “ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)” จะพบข้อความนี้เพียงแค่ 5 คำเท่านั้น ในขณะที่คำว่า “สามัคคี” นั้นจะปรากฏเพียง 10 คำเท่านั้น และเมื่อพิจารณาโดยละเอียดเราจะพบว่า นโยบายด้านการปรองดองและความสามัคคีของคนในชาตินั้น ส่วนใหญ่อยู่ใน “ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง” เป็นหลัก
ทั้งนี้ภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทย ที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มีการนิยามความหมายของความมั่นคงไว้อย่างชัดเจนว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “สังคมมีความปรองดองและความสามัคคี”
และเมื่อพิจารณายุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแผนการด้านการปรองดองนั้น ค้นพบว่าภายใน 20ปี ภาครัฐต้องการเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในด้านความมั่นคงคือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ผ่านการเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและความรักสามัคคีปรองดองของคนในชาติ
ความปรองดองและความสามัคคีถูกเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ย่อยภายใต้หัวข้อหลักคือความมั่นคง เช่น การรักษาความสงบภายในประเทศ การพัฒนาและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ และการพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเสถียรภาพและมีธรรมาภิบาล เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ
.
น่าสังเกตว่านอกจากยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงแล้ว เราไม่พบคำว่าปรองดองปรากฏในยุทธศาสตร์ชาติด้านอื่น ๆ อีกเลย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ร่างยุทธศาสตร์ชาติมองเรื่องการปรองดองเป็นประเด็นทางด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ
เมื่อประเด็นเรื่องความปรองดองกลายเป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่งบประมาณที่ถูกจัดสรรมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ถูกจัดสรรลงไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ ดังที่ก่อนหน้านี้เราได้มีการทำรายงานเรื่องงบประมาณปรองดองกับกองทัพไทย
แต่ที่อยากชวนตั้งคำถามต่อไปคือว่าจริง ๆ แล้ว เรื่องความปรองดองเกี่ยวข้องกับแค่เรื่องความมั่นคงจริงหรือไม่ และการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นแม่งานหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้จริงหรือ
เหตุผลที่คำถามเหล่านี้ต้องถูกนำมาคิดต่อก็เพราะว่า ในหลายปีที่ผ่านมานี้นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ที่ส่งผลต่อความแตกแยกทางด้านความคิดทางการเมืองอย่างหนักนั้น ตัวแปรหนึ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญคือตัวกองทัพนั่นเอง
และสถานะของกองทัพในฐานะหนึ่งในตัวแสดงสำคัญในความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยก็เด่นชัดมากยิ่งขึ้นภายหลังการรัฐประหารปี 2557 จนเราไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วว่ากองทัพมีส่วนอย่างมากต่อสภาพความแตกแยกของสังคมไทยในวันนี้ด้วยเช่นกัน
ฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ถูกต้องจริงหรือไม่ที่การแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางการเมืองนี้ผ่านการส่งเสริมการปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติควรให้กองทัพได้รับจัดสรรงบประมาณในการจัดการเรื่องเหล่านี้ทั้งที่ตัวเองก็เป็นหนึ่งในคู่ความขัดแย้งเช่นเดียวกัน
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การมองเรื่องความปรองดองและความสามัคคีผ่านมิติเพียงเรื่องความมั่นคงนั้นถูกต้อง และตอบโจทย์กับปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าหลังการชุมนุมของเหล่าเยาวชนนั้นไปไกลกว่าประเด็นการเมืองมากพอสมควร
หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศที่ถือเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญของปัญหาความคิดเห็นทางด้านการเมืองที่แตกกันด้วยเช่นกัน การปรองดองคงไม่ใช่เพียงการเจรจาทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องความต่างของวัย ความหวังของคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ หายไป
ฉะนั้นการปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องข้างต้นด้วย ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในเวลานี้ ซึ่งดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นี้ไม่ได้มองเรื่องเหล่านี้ว่าจะมีส่วนเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากนัก
คำถามที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่กำลังบอกว่า หรือเรากำลังเดินผิดที่ผิดทางในการวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติ โดยเฉพาะการมองเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงแค่เรื่องความมั่นคง หรือการมอบหมายให้หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เป็นคู่ขัดแย้งในการบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้
.
ก็ได้แต่เพียงหวังว่ารัฐบาลชุดถัด ๆ จะสามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ให้สามารถสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากยิ่งขึ้น เพราะเราต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้น เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การวางแผนระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่แผนเหล่านั้นต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วย เพราะโลกาภิวัตน์นั้นตัวแปรต่าง ๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งการทำงานในระบบราชการแบบไทย ๆ ไม่สามารถตอบสนองได้ทันท่วงที
ยิ่งเมื่อเผชิญกับแผนระยะยาวที่ไม่มีความยืดหยุ่นด้วยแล้ว อาจทำให้ปัญหาไม่สามารถแก้ไขอย่างทันท่วงทีก็อาจเป็นได้