สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือหัวใจสำคัญของการเมืองสวิตเซอร์แลนด์ ใน 1 ปี ชาวสวิตเซอร์แลนด์ จะได้ออกเสียงประชามติอย่างน้อย 4 ครั้ง ทุกเรื่องในสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมเสมอ
สถาบันพระปกเกล้า จับมือสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และ Research Center on Direct Democracy จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ประชาธิปไตยในสวิตเซอร์แลนด์: ฉันทามติในสังคมภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นของการเสริมสร้างประชาธิปไตยทางตรงผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย บรรยายหัวข้อ “ภูมิทัศน์การเมืองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์” ระบุว่า ลักษณะพิเศษทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่มีใครมีอำนาจโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ประสบการณ์ทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์จึงค่อนข้างยากจะคล้ายกับประเทศใดและยากที่จะลอกเลียนรูปแบบการปกครองไปใช้ทั้งหมด
ทูตสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า การประนีประนอมทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์พึงรักษาไว้เสมอ เพื่อให้ได้ระบบการถ่วงดุลอำนาจที่สร้างดุลยภาพให้แก่การเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ สูตรการจัดรัฐบาลของสวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นลักษณะเฉพาะ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลจะเน้นประนีประนอมความคิดเห็นที่หลากหลายจาก 12 พรรคการเมือง เพื่อกำหนดทิศทางการตัดสินใจสาธารณะ บนฐานคิดเรื่องความเป็นหนึ่งท่ามกลางความคิดหลากหลาย แล้วยังมีประธานาธิบดีที่มีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี
ทั้งนี้ ประชาธิปไตยทางตรงในสวิตเซอร์แลนด์ส่งผลให้พลเมืองจำเป็นต้องมีความตื่นตัวทางการเมืองอยู่เสมอ กล่าวได้ว่า 1 ปี มีประชามติให้ไปลงคะแนนอย่างน้อย 4 ครั้งเพื่อตัดสินใจปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทางการเมือง นอกจากนั้นยังมีประชามติในประเด็นหลากหลายให้พลเมืองชาวสวิตเซอร์แลนด์มาลงคะแนนอยู่สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น ประชามติเพื่อแสดงความเห็นชอบให้เพิ่มจำนวนวันหยุดราชการ, ประชามติความเห็นชอบในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือประชามติการเพิ่มภาษีเพื่อสนับสนุนการเพิ่มเบี้ยบำนาญผู้เกษียณอายุ เป็นต้น
Prof. Dr. Daniel Kübler จาก Research Center on Direct Democracy บรรยายเรื่อง “ประชาธิปไตยในสวิตเซอร์แลนด์: ฉันทามติในสังคมภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ระบุว่า ชาวสวิตเซอร์แลนด์ใช้สิทธิลงคะแนนมากที่สุดในยุโรป ท่ามกลางประชาธิปไตยทางตรงเพิ่มขึ้นทั่วโลก สวิตฯ ถือเป็นที่หนึ่งในการใช้สิทธิทางการเมืองทางตรง “การทำประชามติภาคบังคับ” คือจุดเด่นที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์มีประชาธิปไตยทางตรงที่เข้มแข็ง
“ในทางปฏิบัติ ประชามติที่เป็นประเด็นวาระหลักของชาติค่อนข้างมีการต่อต้านน้อย ขณะที่ประเด็นทางเลือกจะค่อนข้างมีความตึงเครียดในระดับหนึ่ง อาทิ การเสนอทำประชามติเรื่องการต่อต้านการตัดเขาวัว หรือการทำประชามตินโยบายลดโลกร้อน เป็นต้น ประเด็นทางเลือกในข้างต้นมีการถกเถียงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านอย่างชัดเจน ทว่าในที่สุดแล้วก็สามารถผ่านประเด็นเหล่านี้ไปได้ แม้ว่าบางครั้งจะมีผู้ออกไปใช้สิทธิไม่มากเท่าไหร่ก็ตาม อาทิ ประชามติประเด็นเห็นชอบหรือไม่ที่จะผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างเสรี ประเด็นดังกล่าวแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงกันในทางความเชื่อของศาสนา แต่ไม่ว่าอย่างไรประชามติก็ลงคะแนนให้เห็นชอบร่างกฎหมายการยุติครรภ์เสรีได้ในท้ายที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของความก้าวหน้าในการนำเสนอนโยบายบางครั้งกลับส่งผลให้มีแรงต้านมากกว่าที่รัฐสภาประมาณการณ์ อาทิ กรณีศึกษาการทำประชามติเรื่องนโยบายการลดโลกร้อนที่ทำให้กระแสต่อต้านจากสังคมสูง ส่งผลให้นวัตกรรมทางการเมืองในการมีส่วนร่วมโดยตรงกลับกลายเป็นสิ่งที่ต่อต้านการทำงานของรัฐสภาไม่ให้ดำเนินการโดยสะดวกในบางประเด็นสาธารณะ นอกจากนั้นยังมีการทำประชามติที่ส่งผลอย่างสูงต่อการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การลงประชามติคัดค้านการเข้าร่วมสหประชาชาติ หรือการลงประชามติปฏิเสธการเข้าร่วมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้แนวทางแก้ไขเบื้องต้นจากกรณีศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์คือ การดึงฝ่ายค้านเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อร่วมร่างกฎหมาย เช่น การดึงพรรคคาทอลิก หรือพรรคชาวนา เข้าร่วมเพื่อลดแรงเสียดทานจากฝ่ายที่คัดค้านร่างกฎหมาย เป็นต้น นอกจากนี้วิธีการปรึกษาหารือกลุ่มผลประโยชน์ก่อนจะเขียนร่างกฎหมายก็เป็นแนวทางแก้ไขความขัดแย้งได้ดี
ท้ายที่สุด ผลลัพธ์โดยรวมของความเป็นประชาธิปไตยทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์คือ ความตื่นตัวในการลงคะแนนประชามติเพื่อแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายหรือการกระทำทางการเมืองของรัฐ แม้ว่าจะส่งผลให้เกิดผลกระทบย้อนกลับบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอย่างล่าช้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ หรือการต่อต้านการเข้าร่วมในนโยบายต่างประเทศ ทว่าผลในทางบวกที่ตามมาคือ การประนีประนอมระหว่างความหลากหลายทางการเมือง หรือเสถียรภาพในทางเศรษฐกิจ ทว่าจากประสบการณ์ของการมีประชาธิปไตยทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์ชี้ให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีอย่างน้อยสองเงื่อนไขในการเสริมสร้างประชาธิปไตยทางตรง ได้แก่
1) จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารเพื่อควบคุมกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
2) ประชาชนจำเป็นต้องได้รับความเป็นประชาธิปไตยในการร่วมลงคะแนนเสียงแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรีอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประชาชนที่ได้ใช้สิทธิ์ใช้เสียงตามหลักประชาธิปไตยจนกระทั่งความตื่นตัวทางการเมืองกลายเป็นความปกติของสังคมการเมือง แล้วก็จะนำมาสู่การหล่อเลี้ยงให้ประชาธิปไตยทางตรงในประเทศมีความเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป