อินเดียประเทศที่เป็นบ้านของประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน แน่นอนเมื่อประชากรมาก ความหลากหลายก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย อินเดียได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินที่รวบรวมความหลากหลายทางด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แม้ว่าภาพของอินเดียที่เราเห็นจะดูสงบเงียบ ชูความหลากหลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และส่งเสริมความหลากหลายที่มีอยู่ แต่ความเป็นจริงกว่าที่อินเดียจะเดินทางมาถึงจุดนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอินเดียก็แลกมาด้วยบทเรียนมากมายเช่นกัน
ย้อนเวลากลับไปในช่วงก่อนอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ อินเดียเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน เริ่มด้วยความขัดแย้งทางด้านศาสนาระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม ความขัดแย้งนี้นำพาให้หลังได้รับเอกราช เกิดประเทศอย่างปากีสถานและอินเดียขึ้น
นอกจากปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาแล้ว ความขัดแย้งทางด้านวรรณะยังผลให้สังคมฮินดูทะเลาะกันอย่างหนักถึงสภาพความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำระหว่างชนวรรณะสูงและคนวรรณะล่าง ยังผลให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวด้านวรรณะขึ้นทั่วประเทศอินเดีย
แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับกระแสชาตินิยมในกลุ่มคนที่มีชาติพันธุ์และภาษาแตกต่างกันในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดความพยายามในการแยกตัวเพื่อเป็นเอกราชจากสหภาพอินเดียซึ่งพึ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947
หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมที่เรียกได้ว่ามีบทบาทอย่างมากต่อความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศอินเดีย คือการเคลื่อนไหวดราวิเดียน หรือขบวนการชาตินิยมดราวิเดียน ซึ่งเกิดขึ้นในทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่รัฐทมิฬนาดู เกรละ กานาตาการ์ และอานธรประเทศ
เหตุนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความพิเศษของพื้นที่ภาคใต้ของอินเดีย เป็นดินแดนที่มีความต่างอย่างมากจากดินแดนทางเหนือของประเทศ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน ความต่างทางด้านตระกูลภาษา (อินเดียเหนือใช้ภาษาตระกูลอินโด-อารยัน ทางใต้ใช้ภาษาตระกูลดราวิเดียน) ความต่างทางด้านชาติพันธุ์ ไปจนถึงความต่างทางด้านศาสนา
ความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลให้การเคลื่อนไหวดราวิเดียนเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิบางประการเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับดินแดนในแถบนี้ ทั้งยังต้องการลดทอนบทบาทและอิทธิพลที่อาจนำมาซึ่งการกลืนกลายทางด้านวัฒนธรรมของอินเดียเหนือ
ขบวนการนี้เริ่มเคลื่อนไหวในอินเดียนับตั้งแต่ก่อนอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษโดยมีเป้าประสงค์สำคัญคือต้องการได้รับสิทธิในการปกครองตนเองและการต่อต้านค่านิยมหรือคุณค่าฮินดีเป็นใหญ่เหนือดินแดนดราวิเดียน
อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในขบวนการเคลื่อนไหวในช่วงแรก ส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้วรัฐดราวิเดียนไม่ถูกแยกออกมาเป็นประเทศต่างหาก แม้ว่าจะยังมีขบวนการเคลื่อนไหวต่อไปแต่ด้วยกฎหมายใหม่ของรัฐบาลอินเดียที่ไม่อนุญาติให้แบ่งแยกประเทศ
ขบวนการเคลื่อนไหวดราวิเดียนจึงเปลี่ยนนโยบายการเคลื่อนไหวใหม่โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเรื่องการปกครองกันเองโดยพรรคของคนดราวิเดียน และส่งเสริมการปฏิรูปในสังคมดราวิเดียน
ฉะนั้นหลังทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมดราวิเดียนได้หันหน้าเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองมากยิ่งขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมโดยเฉพาะประเด็นเรื่องวรรณะ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ของพื้นที่
ในช่วงก่อนหน้านี้พื้นที่รัฐทมิฬนาดู ซึ่งเป็นแหล่งเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมดราวิเดียนนั้นถูกปกครองโดยพรรคคองเกรส ซึ่งยังคงมีภาพการเมืองแบบชนชั้นอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนวรรณะสูงที่อยู่ในพรรคมากจนเกินไปและไม่เปิดโอกาสให้คนวรรณะล่าง
ปัจจัยนี้ส่งผลให้เกิดการตั้งพรรค Dravida Munnetra Kazagham (DMK) หรือพรรคดราวิเดียนก้าวหน้า ซึ่งต้องการเข้ามาเป็นปากเสียงให้กับคนทมิฬที่ไม่ใช่ชนวรรณะสูงซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่ และเปลี่ยนแปลงสังคมจากคนฐานราก
แม้ว่าในช่วงแรกพรรคการเมืองนี้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมากนักเนื่องจากกระแสความนิยมในพรรคคองเกรสยังคงมากอยู่ในฐานะผู้นำพาอินเดียเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ก็เข็มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1960 เมื่อเกิดปัญหาว่าด้วยประเด็นทางด้านภาษาราชการภายในประเทศอินเดีย เนื่องจากรัฐธรรมนูญอินเดียซึ่งประกาศใช้ในปี 1950 ได้มีการระบุว่าการใช้ภาษาอังกฤษอาจต้องสิ้นสุดลงหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญนี้ไป 15 ปี และให้ถือเอาภาษาฮินดีเป็นสำคัญ และรัฐต่าง ๆ ในประเทศอินเดียมีหน้าที่ส่งเสริมภาษาฮินดี
ประเด็นนี้นำมาซึ่งการจุดชนวนความขัดแย้งโดยเฉพาะจากกลุ่มชาตินิยมดราวิเดียน ที่มองว่าภาษาดราวิเดียนนั้นมีวิวัฒนาการและความเก่าแก่มากกว่าภาษาตระกูลอินโดอารยันอย่างฮินดู นักเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว
เหตุการณ์ขยายวงกลายเป็นการเดินขบวนใหญ่ทั่วพื้นที่ภาคใต้ของอินเดีย แต่ด้วยการควบคุมฝูงชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตำรวจอินเดียในเวลานั้นได้สลายการชุมนุมและเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เหตุการณ์ขยายวงกลายเป็นการจราจลไปทั่วภาคใต้ของอินเดีย
เพื่อจะแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองภายในชาติ รัฐบาลกลางอินเดียได้มีการเจรจากับกลุ่มขบวนการชาตินิยมดราวิเดียนและตกลงว่าจะให้ภาษาทมิฬเป็นภาษาซึ่งสามารถใช้ได้อย่างเป็นทางการภายในรัฐแห่งนี้ ควบคู่ไปกับการต่ออายุการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการออกไปแบบไม่มีกำหนด
นอกจากนี้รัฐบาลกลางอินเดีย ยังตกลงว่าจะเปลี่ยนแปลงชื่อรัฐแห่งนี้จากเดิมที่เป็นชื่อตามการตั้งของเจ้าอาณานิคมคือ มัทราส เปลี่ยนแปลงเป็น ทมิฬนาดู ซึ่งหมายถึงประเทศของคนทมิฬทั้งมวล
ยิ่งไปกว่านั้นผลของการเคลื่อนไหวนี้ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียต้องออกกฎหมายว่าด้วยภาษาราชการในปี 1963 (Official Languages Act, 1963) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญในการต่ออายุภาษาอังกฤษในการบังคับใช้ออกไป และยอมรับการใช้ภาษาถิ่นของรัฐต่าง ๆ ภายในประเทศอินเดีย
ความสำเร็จนี้ของขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมดราวิเดียนยังผลให้การเลือกตั้งในปี 1967 พรรค DMK ได้รับชัยชนะเป็นนครั้งแรกในรัฐทมิฬนาดู และยังผลให้พรรคการเมืองนี้ปกครองทมิฬนาดูไปอีกหลายสมัย
แต่ที่สำคัญที่สุดคือการตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียในการยอมรับเอกลักษณ์ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างของอินเดียใต้ยังผลสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมายาวนาน ยังผลให้ความพยายามในการเรียกร้องเอกราชในพื้นที่ทมิฬนาดูลดลงอย่างมาก
บทเรียนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองของอินเดียเหนือพื้นที่ทมิฬนาดูสะท้อนให้เกี่ยวกับบทบาทของรัฐในการยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการส่งเสริมการให้อำนาจในการปกครองตนเอง และอิสระทางด้านการใช้ภาษา
ยิ่งไปกว่านั้นกรณีศึกษานี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าในบางครั้งปัญหาที่เราคิดว่าแก้ไขยาก อาจกระทำได้ง่าย ๆ เพียงการเปิดใจ และยอมรับว่ามันมีความต่างของผู้คนอยู่ภายในประเทศซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากกัน และต้องการได้รับความคุ้มครองในเรื่องนี้ นอกจากมาบังคับให้ทำทุกอย่างคล้ายคลึงกันทั้งหมด
อ้างอิง
– Official Languages Act, 1963
– Constitution of India
– งานวิจัย Democracy and Ethnic Conflict in India: Precolonial Legacies in Tamil Nadu โดย Pamela Price
– หนังสือ The Politics of Cultural Nationalism in South India โดย MARGUERITE ROSS BARNETT
-บทความ Periyar and Anna: The conflict over electoral politics
-หนังสือ Why South Opposes Hindi โดย Ē. Es Vēṇu