คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนแก่ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง รวมทั้งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน
กสม. ชุดใหม่ เพิ่งเริ่มปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมี 6 คน ประกอบด้วย
พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีประสบการณ์ เคยเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ อธิบดีกรมยุโรป รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ปรีดา คงแป้น เคยทำงานในอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปเพื่อแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อาจารย์ที่ปรึกษาประจำหลักสูตรเสริมสร้างสันติสุข (สสสส.) สถาบันพระปกเกล้า อนุกรรมการแก้ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเลและกะเหรี่ยง สำนักนายกรัฐมนตรี นักจัดระบบชุมชน (Organizer) โครงการเพื่อนร่วมงาน POP (People’s Organizer Participation)
สุชาติ เศรษฐมาลินี เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ประสานงานภาคเหนือ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)
ศยามล ไกยูรวงศ์ อดีตนิติกรทรงคุณวุฒิ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รองผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ นักกฎหมายประจำโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ หัวหน้าฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทนายความประจำสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
.
ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
วสันต์ ภัยหลีกลี้ เคยเป็นปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสื่อสารมวลชน บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและผู้จัดการออนไลน์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี บรรณาธิการบริหารโครงการวิทยุผู้จัดการ 97.5 อสมท. ผู้สื่อข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชน
กสม. ชุดนี้ประกาศ 5 นโยบายหลัก เอาไว้ดังนี้
1. มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที รวมทั้งการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการแก้ไขปรับปรุงนโยบายระเบียบ กฎหมาย แนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
2. ส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเคารพความแตกต่างในความคิดเห็น ความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ภาษา หรือสถานะอื่นใด รวมทั้งการเคารพ สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย อันจะนำไปสู่ความปรองดองในสังคม การไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงการดูถูก ดูหมิ่น หรือสร้างความเกลียดชัง หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เพื่อให้ทุกคน ทุกกลุ่มในสังคมอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ
3. สร้างและสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศให้มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคเอกชนภาครัฐ รวมถึงสถาบันวิชาการ สื่อมวลชน และคนรุ่นใหม่
4. สร้างความเชื่อมั่นต่อบทบาทของ กสม. ในระดับสากล โดยผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ยังอาจไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส ในประเด็นหน้าที่และอำนาจของ กสม. ทั้งนี้ เพื่อให้ กสม.มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในบทบาทหน้าที่เพื่อความผาสุกของประชาชน ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและประชาคมระหว่างประเทศ จนส่งผลให้ กสม. ได้รับการปรับสถานะจากระดับ B กลับคืนสู่สถานะ A ซึ่งจะช่วยให้ กสม.ทำหน้าที่เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และเป็นการเรียกคืนศักดิ์ศรีของประเทศไทยในเวทีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย
5. เร่งพัฒนาสำนักงาน กสม. ให้มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงบนฐานคิดในการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการสารสนเทศระบบคลังข้อมูล (Big Data) มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้ขององค์กร (KM) รวมทั้งเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรและคุณภาพชีวิตของบุคลากรในองค์กรให้ดีและมีความสุขในการทำงาน