แม้จะเห็นว่า ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ หนึ่งในกรรมการสมานฉันท์ จะเดินสายพบปะผู้คุยกับผู้คนมากหน้าหลายตา ทว่าข่าวคราวการทำงานของกรรมการสมานฉันท์ กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
เหตุผลเพราะ 1. เกิดความไม่เชื่อมั่นในบทบาทของกรรมการสมานฉันท์ ว่าจะเป็นทางออกของปัญหาการเมืองไทย
2. เคยตั้งกรรมการสมานฉันท์มาแล้วนับ 10 ชุด แต่ปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งในสังคมไทย กลับยังคงอยู่ยืดยื้อยาวนาน หน่ำซ้ำ ยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับกรรมการสมานฉันท์ ที่ตั้งขึ้น ณ ตอนนี้ พ.ศ. นี้ ต้องเรียกว่า “มาผิดที่ผิดเวลา” แม้หลายฝ่ายจะทักท้วงว่าเปล่าประโยชน์ กระนั้น “ชวน หลีกภัย” ผู้มีอำนาจใหญ่ในการตัดสินใจ ก็ยังดื้อดึงตั้งจนสำเร็จ
เพราะอย่างที่รู้ๆกันว่า การเมืองไทย ยังอยู่ในช่วงร้อนแรง ต่างฝ่ายต่างมุ่งมาดปรารถนาสู่เป้าหมายเพื่อชัยชนะของตน แล้วใครจะเจียดเวลา หันมาให้ความสำคัญกับแนวทางสมานฉันท์ ที่มองไม่ออกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
นอกจากนี้ หากย้อนดูการทำงานของกรรมการสมานฉันท์ปรองดอง 10 คณะ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่พบว่าแนวทางของกรรมการสนามฉันท์ จะถูกหยิบยกขึ้นมาทำอย่างเอาจริงเอาจัง
กลายเป็นว่าตั้งกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาเขียนรายงานเฉยๆ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังเปลืองงบประมาณอย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับความคืบหน้าการทำงานของกรรมการสมานฉันท์ชุดปัจจุบัน “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เปิดเผยว่า ได้เชิญตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง มาร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ แต่ละฝ่ายต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
จากนี้จะเริ่มรวบรวมทุกความเห็นมาสังเคราะห์ เพื่อจัดทำรายงานเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร คาดว่า จะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือน เม.ย. หรือต้นเดือน พ.ค. โดยเชื่อว่า จะเป็นฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อไป
กรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ ตั้งเมื่อเดือน ม.ค. 2564 เริ่มประชุมครั้งแรกปลายเดือน ม.ค. 2564 เริ่มทำงานต้นเดือน ก.พ. 2564
หมายความว่าจะใช้เวลาเพียง 3 เดือน เดินสายรับฟังความคิดเห็น ก่อนจัดทำรายงานเสนอคุณชวน โดยอาจชี้เป้าแนวทางในการดำเนินงานขั้นต่อไป
ส่วนจะออกมาอย่างไร เป็นประโยชน์หรือไม่ ก็ต้องรอดูกันอีกที