ทวงถามคำมั่น สร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ 7 ปี รัฐประหาร

22 พ.ค.ครบ 7 ปี รัฐประหาร 2557

ย้อนกลับไปฟังแถลงการณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 1 คสช.อ้างเหตุผลความจำเป็นในการยึดอำนาจว่า เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงบานปลาย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง และปฏิรูปประเทศให้เกิดความเท่าเทียม

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศนั้น เพราะมีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑลและพื้นที่ต่างๆของประเทศในหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าว มีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับในห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสุขแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ

เมื่อถอดความจากแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ของ คสช. จะพบเหตุผลที่ คสช.อ้างในการยึดอำนาจ 3 ข้อ ดังนี้

1. ให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

2. ให้ประชาชนกลับมามีความรัก ความสามัคคีกันดังเดิม

3. เพื่อปฏิรูป

ข้อที่ 1 ตลอด 5 ปีของ คสช. ได้มีการใช้กฎอัยการศึก ก่อนจะปรับเป็นมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อกดทับความวุ่นวายของสถานการณ์ทางการเมืองไว้ใต้พรม พร้อมกับผุดกลไกทางการเมืองไทยใหม่ ให้มีความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตั้ง ส.ว., ระบบเลือกตั้ง, และองค์กรอิสระ ฯลฯ

แต่ที่สุดแล้ว กลไกเหล่านั้น กลับนำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหม่ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนกว่าในอดีตหลายเท่า

ประการต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ให้คำมั่นว่า จะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ กระนั้น ตลอดเวลา 5 ปีของ คสช.จวบจนถึงปัจจุบัน กลับมีการไล่ล่า จัดการผู้เห็นต่างจำนวนมาก แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการปรองดอง แต่บรรยากาศการเมืองกลับสวนทางกับการสมานฉันท์อย่างสิ้นเชิง

ประการสุดท้ายคือการปฏิรูป โดยการอ้างเหตุผลดังกล่าวเพื่อก่อการรัฐประหารนั้น สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชุมนุม กปปส. ที่เห็นว่าแม้เลือกตั้งต่อไป ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ดังนั้น หลังการยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก่อนปรับเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ส่วนผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นคนตัดสิน

วาระครบ 7 ปีรัฐประหาร จึงสมควรที่จะทวงถามถึงการประกาศเจตนาของการยึดอำนาจครั้งนั้น ว่า 7 ปี ผ่านไป เกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้าง

#เกาะติดปรองดอง #Newsxtra