ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ยืดเยื้อยาวนานมานับ 10 ปี ยังไม่มีทีท่าจะลดลง มิหนำซ้ำยังจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
งานวิจัยเรื่อง “1 ทศวรรษการสร้างความปรองดองทางการเมืองไทย” เมื่อปี 2560 ของ “ชลัท ประเทืองรัตนา” สถาบันพระปกเกล้า ได้พยายามศึกษาเปรียบเทียบแนวทางในการสร้างความปรองดองทางการเมืองไทยของรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับค้นหาปัจจัยที่ส่งผลให้การปรองดองทางการเมืองไทยประสบความล้มเหลว และยังจัดทําข้อเสนอแนะเพื่อนําไปสู่การสร้างความปรองดองของสังคมไทย
งานวิจัย ชี้ว่า เหตุผลที่การสร้างความปรองดองในประเทศไทย ไม่ประสบความสำเร็จ มาจากปัญหา เช่น ขาดกลไกขับเคลื่อนสู่สาธารณะ
รัฐบาลชุดต่างๆ ทําได้เพียงสร้างองค์ความรู้ แต่ขาดกลไกขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองสู่สาธารณะอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังขาดความต่อเนื่องและการสานงานต่อ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล และเป็นการเมืองของแต่ละรัฐบาล ที่สำคัญยังเห็นว่า ผู้นําระดับสูงตกลงกันไม่ได้ โดยถ้าหากผู้นําระดับสูงยังตกลงกันไม่ได้ ตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับความปรองดองตั้งขึ้นมา ก็ไม่มีความหมาย
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังนำเสนอ ปัจจัยที่จะส่งผลให้การปรองดองทางการเมืองไทยประสบความสําเร็จ เช่น ระบบการเมืองที่มุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งและยอมรับกติกาจากการเลือกตั้ง มีบรรยากาศทางการเมืองที่จะนําไปสู่การเลือกตั้ง ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง พูดคุยและแลกเปลี่ยนกันได้
ระบบเศรษฐกิจ ที่ทําให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดี การเรียกร้องก็จะไม่เกิดขึ้น และสามารถนําไปสู่ความปรองดองได้
ขณะที่กลุ่มทุนที่เลือกสนับสนุนแต่ละฝ่ายมีบทบาทสําคัญทําให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนผู้นําทางการเมือง ต้องมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการสร้างความปรองดอง ลดผลประโยชน์ของกลุ่มตนลง และมีการพูดคุยกับฝ่ายอื่น
นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างพื้นที่กลางร่วมกันให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เกิดการรับฟังซึ่งกันและกัน ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความปรองดอง
ที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการสร้างความปรองดองคือ กระบวนการยุติธรรมที่ให้ความยุติธรรมไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยกลไกของศาลในการตัดสินคดี ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ตัดสินใจโดยยุติธรรม มิใช่เกิดจากกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ ยังต้องมีโครงสร้างทางสังคมที่เท่าเทียมกัน จึงจะนําไปสู่การสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง