เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้พิจารณาแล้ว
.
โดย อว. เห็นว่าการเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ย่อมเป็นแนวทางหนึ่งในการรับทราบข้อมูลและความต้องการของประชาชน การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐและสถานศึกษาที่ต้องดำเนินการ
.
นอกจากนี้ การบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ควรเป็นไปภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญ การดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมายร่วมกับหลักนิติรัฐเพื่อความเป็นธรรมโดยไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคม
.
อว. ได้เสนอข้อคิดเห็นในประเด็นตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ดังนี้
.
1) ควรมีการจัดกิจกรรมเสวนาระหว่างคณะผู้แทนราษฎร และนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน และจัดรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มและทุกพื้นที่ หรือการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ สถานศึกษา ที่สามารถตอบโต้แลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ โดยคณะรัฐมนตรีควรเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนแสดงความคิดเห็นให้กว้างและมากขึ้นกว่านี้เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การใช้ความรุนแรงในการระงับเหตุการณ์ชุมนุม
.
2) ปัจจุบันนักเรียนและนักศึกษา ให้ความสนใจในสังคมและรัฐบาล สถาบันการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่สามารถรับฟัง ให้ความรู้ และแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน นิสิตและนักศึกษาได้อย่างชัดเจน ครูหรืออาจารย์ มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ แนะนำความถูกต้องและความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมชุมนุม และรับฟังการอภิปรายนักเรียน นิสิตและนักศึกษาให้อยู่ในขอบเขต รวมทั้งไม่ควรใช้กระบวนการทางวินัยมาดำเนินการแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และสถาบันการศึกษาไม่ควรปิดกั้นความคิดเห็น หากมีการจัดกิจกรรมชุมนุมภายในสถาบันการศึกษา
.
กระทรวง อว. ยังแจ้งถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดรายวิชาเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง โดยจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชนในหลักสูตรทุกระดับชั้นตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาค่านิยม ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นพลเมืองดีของสังคมไทย ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข