ปากีสถานหลังรัฐบาลทหาร: เมื่อพรรคการเมืองทุกพรรคไม่จับมือกับทหารเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย

สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ประเทศขนาดกลาง ๆ ที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และถือเป็นคู่ปรับสำคัญของประเทศอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้ ประเทศแห่งนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปสำหรับคนไทยนัก

นอกจากเราจะได้เห็นข่าวผ่าน ๆ ตาเกี่ยวกับปฏิบัติการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายและสังหารผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์ อย่าง อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้ แต่ประเทศแห่งนี้ยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องราวทางการเมือง

ที่ว่าเรื่องราวทางการเมืองของปากีสถานน่าสนใจนั้นก็เพราะว่าโครงสร้างและระบบการเมืองของประเทศแห่งนี้ดูจะคล้ายคลึงกับประเทศไทยแบบไม่ได้นัดหมาย แม้ว่าจะมีความต่างทั้งทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ภาษา และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

ปากีสถานเป็นประเทศที่เมื่อมองจากโลกภายดูจะเป็นรัฐอิสลาม แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะนับตั้งแต่แยกประเทศออกมาและได้รับเอกราชจากอังกฤษ ปากีสถานยืนยันสถานะความเป็นรัฐฆราวาสนิยมของตัวเองอย่างถึงที่สุด

ที่สำคัญประเทศแห่งนี้ยังเลือกใช้แนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศได้ไม่นาน ปากีสถานก็เดินทางไปถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งกลายเป็นวงเวียนการเมืองใหม่ของประเทศ นั่นคือการรัฐประหารในปี 1958

การรัฐประหารในครั้งนี้ส่งผลให้บทบาทของกองทัพ และทหารทางการเมืองภายในประเทศปากีสถานเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนแม้ว่าจะมีการหัวกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตย กองทัพก็ยังคงแทรกแซงการเมืองอย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีการเลือกตั้งในปี 1970 แต่ในเวลาเพียง 7 ปี ปากีสถานก็เผชิญการรัฐประหารโดยกองทัพอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้กองทัพครองอำนาจนานอีกกว่า 10 ปีเต็ม จากปี 1977 ถึง 1988 โดยเหตุผลสำคัญของการรัฐประหารคือเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศ

และการหวนคืนสู่ประชาธิปไตยของปากีสถานครั้งนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะในช่วงปี 1999 รัฐบาลพลเรือน และกองทัพปากีสถานมีปัญหากันอย่างหนักเกี่ยวกับสงครามกับประเทศอินเดีย จนสุดท้ายนายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟทำรัฐประหารอีกครั้ง และครองอำนาจยาวไปจนถึงปี 2008

การปกครองภายใต้อำนาจทหารเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศและนำมาซึ่งการเลือกตั้งในปี 2007 ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการปฏิรูปประเทศปากีสถาน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายปรองดองภายในประเทศ ซึ่งริเริ่มโดยนางเบนาซีร์ บุตโต

แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2007 แต่พรรคประชาชนปากีสถานของเธอก็ได้รับการเลือกตั้งและสานต่อนโยบายนี้อย่างแข็งขัน

ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของนโยบายปรองดองนี้คือการพยายามฟื้นฟูอุดมการณ์ประชาธิปไตยภายในประเทศ และพยายามลดบทบาทของกองทัพในทางการเมืองให้มีอย่างจำกัดมากที่สุด โดยผ่านการจับมือกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

นโยบายนี้ถูกอีกว่าเป็นกฎบัตรแห่งประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่พรรคประชาชนปากีสถานเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ แต่รวมถึงพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ได้รับชัยชนะต่อมาก็สานต่อนโยบายนี้ด้วย

สิ่งแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทุกพรรคการเมืองพยายามแสวงหาความปรองดองร่วมกันเพื่อผลักดันนโยบายคือการร่วมแรงร่วมใจในการลงเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2008 เพราะภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร หลายพรรคการเมืองสิ้นหวัง และมองว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร

ยกตัวอย่างเช่นนายนาวาซ ชาริฟ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน (เอ็น) ซึ่งถูกรัฐประหารในปี 1999 และถูกกลั่นแกล้งอย่างหนักจากรัฐบาลทหารจนต้องเดินทางออกนอกประเทศ เขาเองมีท่าทีที่จะบอยคอตการเลือกตั้งในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตามด้วยการชักชวนของอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี หัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถานที่ขึ้นมาแทน เบนาซีร์ บุตโต ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ว่าใครจะแพ้-ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกคนต้องลงเลือกตั้งเพื่อเป็นทางผ่านสำคัญสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศในอนาคต และผลักดันอำนาจทหารออกจากการเมือง

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นส่งผลให้ทั้งสองพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกัน เลือกจับมือกันเพื่อสร้างความปรองดองภายในประเทศภายหลังการปกครองของกองทัพเป็นเวลานาน จึงเกิดเป็นรัฐบาลแห่งชาติขึ้น

เป้าหมายและนโยบายสำคัญของรัฐบาลในเวลานั้นคือการฟื้นฟูกระบวนการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมค่านิยมในหมู่ประชาชนปากีสถานอีกครั้ง โดยเฉพาะการคืนตำแหน่งสำคัญของผู้พิพากษาและข้าราชการที่ถูกปลดไปในช่วงการปกครองของนายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ

ยิ่งไปกว่านั้นยังรวมถึงการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างในยุคสมัยของรัฐบาลทหาร ซึ่งถูกมองว่าเป็นอุปสรรคอย่างมากในการพัฒนาประชาธิปไตยภายในประเทศ และเอื้อต่อการขยายบทบาทของทหารในทางการเมืองภายในประเทศปากีสถาน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นในอนาคต

ลักษณะการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองของบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ภายในประเทศปากีสถานเพื่อป่าวร้องความไม่พอใจต่อกองทัพนั้น ไม่ได้เพียงเกิดขึ้นในรัฐบาลระดับประเทศเท่านั้น แต่การร่วมมือกันยังรวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลในระดับรัฐต่าง ๆ ภายในปากีสถาน

การจับมือกันครั้งนี้ของบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งที่เคยฟาดฟันกันมาอย่างหนักก่อนช่วงรัฐประหารส่งผลให้บรรยากาศประชาธิปไตยภายในประเทศปากีสถานเติบโตและเบิกบานอย่างรวดเร็ว

และผลของนโยบายปรองดองในวันนั้นก็ส่งให้จนถึงวันนี้ปากีสถานก็ยังไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำอีกเลย แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่านจะถูกมองว่าอยู่ภายใต้คาถาของกองทัพ

.

อย่างไรก็ตามสถานการณ์นั้นได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากโดยเฉพาะบทบาทในทางการเมืองของกองทัพที่ลดลงอย่างมากในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ถูกจำกัดอยู่เพียงในภาคความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากเราพิจารณามาตรการและนโยบายปรองดองหลังรัฐประหารของปากีสถานจะพบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. ทุกพรรคการเมืองเห็นจุดหมายร่วมกันคือการรัฐประหาร และการแทรกแซงทางการเมืองของทหารไม่ใช่ทางออกของปัญหาการเมือง และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ

2. ไม่มีพรรคการเมืองใดเห็นว่าการจับมือกับทหาร หรือพรรคทหารจะช่วยให้การฟื้นฟูประชาธิปไตยเกิดขึ้น แต่ทุกพรรคมองว่า การจับมือกันเองต่างหากคือทางออกที่ถูกต้องของประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อลดอำนาจของทหาร

3. รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหารต้องถูกแก้ไข เพราะมันคือกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของทหารในการแทรกแซงการเมืองภายในปากีสถาน ฉะนั้นเรื่องแรก ๆ ที่ถูกทำภายหลังมีรัฐบาลพลเรือนคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

และ 4. การบอยคอตการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาการเมืองที่วุ่นวาย เพราะนั่นจะเป็นการเปิดทางให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง และสร้างวิกฤตทางการเมืองใหม่

อ้างอิง

-บทความวิจัย Era of “Reconciliation” in Pakistan, 2006 – 2017: A Critical Reappraisal โดย Muhammad Iqbal Chawla

-บทความ Truth and reconciliation: Pakistan’s only way forward โดย Farid A. Malik

-บทความ Benazir Bhutto’s politics of resistance and reconciliation โดย Mazhar Abbas

-บทความวิจัย The Novel Changes in Pakistan’s Party Politics: Analysis of Causes and Impacts โดย Xiang Wu และ Salman Ali