อัฟกานิสถานภายหลังการถอนทหารของอเมริกา: โจทย์ปรองดองที่ยังไม่มีคำตอบ

อัฟกานิสถานกลับมาเป็นประเด็นร้อนในหน้าข่าวต่างประเทศอีกครั้งภายหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ออกมาระบุว่าอเมริกาจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานทั้งหมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

แผนดังกล่าวถือว่าเลื่อนมาเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 1 เดือนเต็ม ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่าหลังทหารกลุ่มสุดท้ายออกจากอัฟกานิสถานจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศแห่งนี้

ต้องย้อนความไปถึงต้นตอที่ทหารอเมริกาต้องมาประจำที่ดินแดนแห่งนี้ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2001 โดยสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นดำเนินนโยบายการต่อต้านการก่อการร้าย

อัฟกานิสถานในเวลานั้นภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันถือเป็นผู้สนับสนุนหลักในการให้พื้นที่หลบภัยต่อกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มอัลเคดาร์ที่ก่อวินาศกรรมในเหตุการณ์ 9/11

รัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลานั้นให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านกองกำลังตาลีบัน และส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการจนโค่นล้มรัฐบาลตาลีบันได้สำเร็จ

รัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานถูกจัดตั้ง และกลุ่มตาลีบันในเวลานั้นมักเรียกรัฐบาลชุดนี้ว่าเป็น “รัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐอเมริกา”

ปัญหาอัฟกานิสถานไม่ได้จบง่าย ๆ อย่างที่สหรัฐฯคิด เพราะกลุ่มกองกำลังตาลีบันและกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ยังคงปฏิบัติการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการเสียชีวิตของอุซามะฮ์ บิน ลาดิน นำมาซึ่งการวางแผนถอนทหารของสหรัฐฯ เพราะมองว่าพันธกิจจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดาร์ ได้จบสิ้นแล้ว

ฉะนั้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สหรัฐฯ ก็เริ่มแผนถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานมาโดยตลอด และในปีนี้ก็เกิดขึ้นจริง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ ไม่ต่างไปจากสงครามเวียดนาม

แน่นอนว่าตลอด 20 ปีมานี้ กองกำลังตาลีบันไม่ได้อ่อนกำลังลงเลย ซ้ำยังยึดพื้นที่หลายส่วนของอัฟกานิสถานเอาไว้ได้อีกด้วย

การตัดสินใจออกจากอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ นำมาซึ่งการออกปฏิบัติการอีกครั้งของกองกำลังนี้นับตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวหลายสำนักระบุว่าหลายเมืองตามแนวชายแดนอิหร่าน ถูกกองกำลังตาลีบันยึดได้แล้ว

ในขณะที่ศักยภาพของรัฐบาลอัฟกานิสถานนั้นไม่ได้มั่นคงมากนัก ซ้ำกองกำลังทหารยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน หากต้องเผชิญการทำสงครามกับกองกำลังตาลีบัน

เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับการเมืองอัฟกานิสถานภายหลังการถอนทหารของสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้ออกมาตอบว่า “ชาวอัฟกานิสถานต้องเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองเกี่ยวกับชะตาชีวิตของพวกเขา”

ยิ่งไปกว่านั้นอังกฤษหนึ่งในกองกำลังสำคัญที่ปฏิบัติการทางทหารในประเทศนี้ วันก่อนรัฐมนตรีกลาโหมกลับออกมาพูดว่า “พร้อมทำงานร่วมกับกลุ่มตาลีบันหากพวกเขาสามารถเข้าสู่อำนาจได้”

ในขณะที่บรรดาประเทศที่เข้ามาสร้างปัญหาในอัฟกานิสถานต่างทิ้งระเบิดเวลาไว้นั้น ดูเหมือนว่าภายในอัฟกานิสถานนั้น กลับมีสถานการณ์ย่ำแย่ลงทุกวัน จนนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าสงครามกลางเมืองได้เริ่มแล้ว

ทั้งนี้บรรดาเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถานเริ่มได้รับผลกระทบอย่างมากกับปัญหานี้เพราะมีจำนวนผู้อพยพมากยิ่งขึ้นข้ามเข้ามาทั้งในอิหร่าน และเติร์กเมนิสถาน

แม้ว่าสถานการณ์จะท่าไม่ดีนัก แต่หลายฝ่ายทั้งอินเดีย รัสเซีย ปากีสถาน และจีนต่างกดดันให้ทั้งตาลีบันและรัฐบาลอัฟกานิสถานหันหน้ามาใช้ช่องทางทางการเมืองมากกว่าการใช้อาวุธโจมตีกัน

ฉะนั้นก็ต้องมาตามดูกันต่อไปว่าความขัดแย้งในอัฟกานิสถานจะสามารถเดินไปถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายสร้างความปรองดองได้สำเร็จ หรือจะหวนคืนสู่สภาพสงครามกลางเมืองแบบเดิม